xs
xsm
sm
md
lg

เสนออัตราจ่ายค่ารักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ใหม่ ครอบคลุม 72 ชั่วโมงแรก บวกค่าแรง รวมค่าธรรมเนียมแพทย์ คาดใช้งบ 600 ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สพฉ. เสนออัตราจ่ายค่ารักษาโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ ใหม่ ใช้แนวทาง “FEE SCHEDULE” บวกค่าแรงเพิ่มเป็น 100% พร้อมค่าธรรมเนียมแพทย์ ส่วนค่ายา เวชภัณฑ์ ยึดตามป้ายราคา จัดทำค่าบริการเป็นแนวทางแล้วกว่า 14 หมวด 1,800 รายการ ยันจ่ายเงินคืนสถานพยาบาลใน 45 วัน คาดใช้งบประมาณ 600 ล้านบาท “ปิยะสกล” ห่วงค่าใช้จ่ายบาน สั่งทำรายละเอียดเพิ่ม

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นำเสนอร่างระบบบริการและการกำหนดราคาค่าบริการการแพทย์ฉุกเฉินภายใต้นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” เพื่อขอความเห็นในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ว่า จากการดำเนินงานนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินฯ มาตั้งแต่ ปี 2555 - 2558 รวมเป็นเวลา 3 ปี พบว่า ยังมีปัญหาหลัก ๆ คือ เรื่องการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้าสู่ระบบ เรื่องการจ่ายคืนค่าบริการที่ต่ำกว่าต้นทุนของ รพ.เอกชน ที่ไม่ใช่คู่สัญญา ทำให้เกิดปัญหาปฏิเสธผู้ป่วย และเรื่องวิธีการจ่ายคืนเงินให้สถานพยาบาล ซึ่งจากการหารือร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปเบื้องต้นคือ 1. การคัดกรองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตสีแดงเข้าสู่ระบบ ให้ดำเนินตามเกณฑ์ที่ สพฉ. กำหนด ซึ่งมีการจัดทำเป็นคู่มือ โดยฉุกเฉินวิกฤตที่ชัดเจน คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะต้องกู้ชีพโดยด่วน ส่วนกลุ่มที่ฉุกเฉินระดับรองลงมา สพฉ. ได้ร่วมกับ สปสช. ทำเป็นเช็กลิสต์อาการที่ต้องเฝ้าระวัง เช่น ชีพจรเปลี่ยน การหายใจเปลี่ยน ความดันตก เป็นต้น เพื่อพิจารณาเข้าสู่ระบบ ซึ่งเร็ว ๆ นี้ จะมีการเชิญแพทย์ รพ.เอกชน ประมาณ 3 - 4 เครือข่าย เข้ามาฝึกทบทวนการทำเช็กลิสต์นี้ด้วย

นพ.อนุชา กล่าวว่า 2. ค่าใช้จ่ายในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ใช้อัตราจ่ายตาม FEE SCHEDULE ซึ่งจะครอบคลุมค่าบริการทางการแพทย์ทั้งหมดที่ให้บริการในช่วง 72 ชั่วโมงแรกของการรับผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งรวมถึงค่าห้อง ค่าอาหาร โดยอัตราค่าบริการดังกล่าวเป็นของกรมบัญชีกลางที่จัดทำขึ้นใหม่ โดยสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ในปี 2558 มีการปรับค่าแรงเป็น 100% เต็ม จากเดิมที่กรมบัญชีกลางคิดค่าแรงเพียง 50% และบวกเพิ่มด้วยอัตราค่าธรรมเนียมแพทย์ของการทำหัตถการตามคู่มือค่าธรรมเนียมแพทย์ของแพทยสภาด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบค่ารักษาและค่าใช้จ่ายที่บริษัทประกันภัยหรือกองทุนทดแทนผู้ประสบภัยต้องจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถปี 2557 หากพบว่าอัตราค่าบริการใดมีค่าบริการที่สูงกว่าให้เลือกใช้อัตราดังกล่าว ส่วนค่ายา เวชภัณฑ์ และวัสดุอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการให้บริการให้เบิกจ่ายโดยคิดตามราคาป้ายที่ประกาศไว้ที่ตัวสินค้า ซึ่งอัตราค่าบริการดังกล่าวทั้งหมดนั้นมีสภาวิชาชีพต่าง ๆ ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสาขาที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถานพยาบาลในสังกัดต่าง ๆ เข้าร่วมพิจารณา ซึ่งจัดทำค่าบริการไว้เป็นแนวทางถึง 14 หมวด รวมกว่า 1,800 รายการ ซึ่งกำลังจะส่งให้แต่ละกองทุนพิจารณา และ 3. ระบบการจ่ายเงินคืนสถานพยาบาลจะพยายามดำเนินการไม่เกิน 45 วัน โดยมี สปสช. เป็นเคลียริงเฮาส์ หรือหากประกันสังคมและกรมบัญชีกลางจะดำเนินการเองก็สามารถทำได้

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ตามหลักการถือว่าเป็นแนวทางที่ดี ซึ่งจะต้องไม่ดึงกองทุนที่มีการดำเนินการเรื่องนี้ที่ดีอยู่แล้ว เช่น สำนักงานประกันสังคม ลงมา แต่ต้องดำเนินการแนวทางหลักนี้ให้ดีเท่ากัน โดยผลประโยชน์ต้องเกิดขึ้นกับประชาชน ส่วนเรื่องงบประมาณในโครงการนี้ต้องไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายไม่เพิ่มขึ้นจนน่าวิตก และเห็นว่าเป็นเรื่องที่แต่ละกองทุนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง การจะของบประมาณมาให้ สพฉ. เพียงหน่วยงานเดียวคุมนั้นเป็นไปไม่ได้ ส่วนมาตรการนี้จะสามารถแก้ปัญหา รพ.เอกชน เรียกเก็บค่ารักษาแพงหรือไม่นั้นต้องถามก่อนมาตรฐานเป็นอย่างไร จะให้เก็บราคาถูกลงก็ไม่ใช่ เรื่องนี้ จึงต้องดูกันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม นอกจากนี้ ขอให้ สพฉ. ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งเรื่องนี้จะมีการประชุมอีกครั้งในการประชุมบอร์ด สพฉ. วันที่ 16 ก.ย. นี้

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ช่วงที่ สปสช. เป็นหน่วยงานดูแลโครงการดังกล่าว แต่ละปีใช้งบเฉลี่ยประมาณ 300 ล้านบาท สำหรับอัตราการจ่ายแบบใหม่นี้ สถานพยาบาลจะได้รับเงินคืนเพิ่มประมาณ 20% โดยงบประมาณทั้งหมดในแต่ละปีคาดว่าจะใช้เพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งงบดังกล่าวถือเป็นงบเริ่มต้นที่จะจ่ายคืนให้แก่สถานพยาบาล และจะไปเรียกเก็บคืนจากแต่ละกองทุนอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความกังวลเรื่องงบประมาณที่เพิ่มขึ้น แต่หากจัดทำรายละเอียดแล้วพบว่ามีความจำเป็นต้องเพิ่มงบประมาณจริง ก็มีความเป็นไปได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น