xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมเลือก กก.บอร์ด สปสช.ใหม่ เร่งสางบุคลากร สธ.พอใจบัตรทองต่ำ เน้นค่าตอบแทนเป็นธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

เตรียมคัดเลือก กก. บอร์ด สปสช. ใหม่ เดินหน้าสร้างความพึงพอใจให้บุคลากร สธ. หลังผลประเมินพึงพอใจระบบบัตรทองต่ำ เน้นค่าตอบแทนที่เป็นธรรม เผยรายการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคปรับปรุงตามคำแนะนำ สตง. ให้ชัดเจน

วันนี้ (6 พ.ย.)  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.)  กล่าวภายหลังการประชุมบอร์ด สปสช. ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาผลการดำเนินงาน 4 ปี ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ชัดเจนว่า ประชาชนได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงบริการมากขึ้น มีความพอใจกว่าร้อยละ 90 แต่ความพอใจของบุคลากรสาธารณสุขยังไม่มากนัก โดยจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาคัดเลือกกรรมการบอร์ดใหม่ ซึ่งในปี 2559 จะต้องเดินหน้าเรื่องนี้ให้บุคลากรในสังกัดมีความพึงพอใจมากขึ้น

“จากการประเมินพบว่า บุคลากรสาธารณสุขไม่ค่อยพึงพอใจในระบบ อันดับแรก ๆ คือ ภาระงานมาก ขณะที่ค่าตอบแทนอาจยังไม่มากพอ ซึ่งตรงนี้เราก็เห็นใจ ทั้งแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะต้องได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ประกอบกับเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ สิ่งเหล่านี้ได้มอบให้ทางคณะกรรมการร่วมระหว่าง สธ. และ สปสช. โดยปลัด สธ.และเลขาธิการ สปสช. ร่วมกันดำเนินการหาทางออกเรื่องนี้ ซึ่งปกติคณะกรรมการชุดนี้ก็ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ได้มอบให้ในปี 2559 ต้องมีทางออกที่ชัดเจน” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในเรื่องปรับค่าตอบแทนให้เหมาะสมในทุกวิชาชีพนั้นจะรวมถึงค่าตอบแทนตามภาระงาน หรือ พีฟอร์พี (Pay of Performance)  หรือไม่ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เรื่องพีฟอร์พีน่าจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งแต่ละเรื่องก็จะมีขั้นตอนของตัวเอง โดยจะทำงานให้ดีที่สุด

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ส่วนการกำหนดรายการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั้น สปสช. และ สธ. ร่วมกันจัดทำรายการดังกล่าวขึ้น โดยได้ปรับปรุงตามที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แนะไว้ว่าต้องทำให้ชัดเจน จึงได้ยกร่างให้มีความชัดเจน อาทิ กำหนดขอบเขตบริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ครอบคลุมการตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาภาวะเสี่ยงต่อการเสียสุขภาพและศักยภาพที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเสริมสุขภาพ การเสริมสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การให้การปรึกษาแนะนำ การให้ความรู้และการสาธิตเพิ่มสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน การใช้ยา และการทำหัตถการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงการเฝ้าระวังโรค และบริการป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยที่มีอาการแทรกซ้อนหรือการชะลอความรุนแรงของการป่วย โดยให้ถือว่าบริการดังกล่าวเป็นกิจกรรมด้านการรักษาพยาบาล

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น