xs
xsm
sm
md
lg

ร้องเรียนปัญหาสุขภาพ-สิทธิการรักษา ให้ “ศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงฯ” ช่วยเหลือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ต้องยอมรับว่าปัญหาหนึ่งของวงการสาธารณสุขไทยเรื่องหนึ่งก็คือ ประชาชนไม่รับรู้สิทธิการรักษาของตนเอง ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เฉพาะไม่รู้ว่าตนอยู่สิทธิการรักษาใด เช่น สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิข้าราชการ แต่เป็นสิทธิประโยชน์ในการรักษาของแต่และกองทุนสุขภาพ ซึ่งเชื่อได้ว่าเกินครึ่งต่างไม่รู้ว่าตนเองได้รับสิทธิประโยชน์การรักษาครอบคลุมโรคใดบ้าง

ปัญหาเหล่านี้ นางอรกัลยา พุ่มพึ่ง หัวหน้าศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพภาคกลาง จ.ปทุมธานี ในฐานะที่ทำงานในพื้นที่ คลุกคลีกับชาวบ้านมานานยอมรับว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย โดยระบุว่า จากการสำรวจชาวบ้านในพื้นที่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ชาวบ้านที่อายุเกิน 55 ปีขึ้นไป รู้จักบัตรทอง แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร รู้เพียงว่าถ้าไปโรงพยาบาลก็จะเสียค่าบริการ 30 บาท แต่ไม่รู้สิทธิประโยชน์ที่ตัวเองจะได้รับ บางคนถูกโรงพยาบาลเรียกเก็บเงินทั้งที่ตัวเองมีสิทธิการรักษาครอบคลุม ทำให้เสียค่าใช้จ่ายโดยใช่เหตุ

นางอรกัลยา เล่าว่า จากปัญหาทั้งหมดเหล่านี้จึงได้ทำศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพภาคกลาง จ.ปทุมธานี ขึ้น แต่ก่อนหน้านั้นจริงๆ แล้วเป็นเพียงเครือข่ายผู้หญิงที่ทำงานเฉพาะด้านผู้หญิงเท่านั้น แต่ประสบปัญหาคือ ไม่ใช่หน่วยงานที่มีตัวตนและได้รับการยอมรับทางกฎหมายอย่างถูกต้อง ก็จะมีปัญหาในเรื่องเข้าไปขอข้อมูลจากหน่วยงานราชการ บางครั้งเจอการปฏิเสธ ทำให้ช่วยเหลือผู้หญิงได้ไม่เต็มที่

“ต่อมาได้รู้จักกับศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงลองศึกษาเรื่องสิทธิบัตรทอง โดยเข้ารับการอบรมกับ สปสช. จากนั้นจึงเปิดเป็นศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ โดยเน้นทำงานเพื่อผู้หญิงเช่นเดิมแต่ควบเรื่องของสิทธิหลักประกันสุขภาพด้วย ซึ่งแม้จะขึ้นตรงกับ สปสช. แต่ก็ยังไม่ถูกกฎหมาย ยังไม่สามารถรับเรื่องร้องเรียนและเข้าไปแก้ไขปัญหา หรือขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ได้ แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 ม.ค. ศูนย์ฯได้รับคำสั่งแต่งตั้งตามมาตรา 50 (5) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ พ.ศ. 2545 ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับเรื่องร้องเรียนได้ตามกฎหมาย และเพิ่งได้ใบประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557 เหลือเพียงแต่ติดป้ายหน้าศูนย์เท่านั้น”

นางอรกัลยา บอกอีกว่า ปีแรกที่ดำเนินการ เป็นการลงพื้นที่เพื่อปูพรมดูข้อมูลทั้งหมด จึงได้พบกับปัญหาดังกล่าว ส่วนปีต่อไปจะเริ่มให้ความรู้เป็นปีแรก โดยจะลงไปให้ความรู้ด้านหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้หญิง เริ่มตั้งแต่หญิงตั้งครรภ์ว่าเขามีสิทธิอะไรบ้าง เมื่อคลอดลูกแล้วเด็กที่เกิดมาจะได้รับสิทธิ์ในการดูแลสุขภาพอย่างไร รวมไปถึงลงพื้นที่ชุมชนเพื่อดูว่าผู้พิการได้รับการดูแลแบบเข้าถึงพื้นที่หรือไม่ เป็นต้น รวมไปถึงรับเรื่องร้องเรียนปัญหาต่างๆ จากชาวบ้านด้วย ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านเริ่มรู้แล้วว่ามีศูนย์นี้เปิดอยู่กลางพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านก็เริ่มไว้ใจและเข้ามาบอกข้อมูลและร้องเรียนปัญหาด้านสุขภาพมากขึ้น

“ต้องขอบคุณ สปสช. ที่ช่วยอบรมให้เรามีความรู้ ติดอาวุธให้กับพวกเราในการเข้าไปต่อสู้กับภาครัฐและเอกชน โดยศูนย์ฯมีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 14 คน ต่างผ่านการอบรมมาทั้งหมด สามารถรับเรื่องร้องเรียน และเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านได้ เช่น ได้รับผลกระทบจากการรักษา เราก็มีสิทธิที่จะเข้าไปตรวจสอบโรงพยาบาลว่าเกิดอาการขึ้นกับคนไข้จริงหรือไม่ มีการดูแลรักษาอย่างไร รวมถึงช่วยไกล่เกลี่ยระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็น รพ.รัฐ หรือ รพ.เอกชน แต่ก่อนหน้านั้นก็ต้องให้โรงพยาบาลรับผิดชอบเยียวยาตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งหากโรงพยาบาลไม่ใส่ใจ หรือเพิกเฉย ศูนย์ฯก็มีสิทธิสามารถส่งเรื่องดังกล่าวให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เข้ามาจัดการปัญหาต่อได้”

นางอรกัลยา กล่าวอีกว่า เปิดศูนย์ปีแรกเราได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินการจาก สปสช.ประมาณ 3 หมื่นบาท และมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวอีกราว 1.7 แสนบาท ซึ่งจากการได้รับการยกระดับเพิ่มขึ้นจาก สปสช. เชื่อว่า จะได้รับเงินสนับสนุนเพิ่มขึ้น เพราะการสนับสนุนงบประมาณจะมีการเปลี่ยนจากการตัดเงินจากขนาดของศูนย์ว่า เล็ก กลาง หรือใหญ่ มาเป็นวัดที่การทำงาน หากช่วยเหลือชาวบ้านได้เยอะก็จะได้รับงบประมาณมากขึ้น ทั้งนี้ ในอนาคตจะขยายศูนย์ฯ ให้ครบทั้ง 8 จังหวัดภาคกลางด้วย ไม่เฉพาะแค่ปทุมธานีเท่านั้น

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น