xs
xsm
sm
md
lg

"นิมิตร์" ปัด คกก.เสนอประชารัฐร่วมจ่าย ชี้หาทางออกงบ 3 กองทุนยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"อัมมาร" หนุนบัตรทองร่วมจ่ายก่อนรักษาแบบประกันสังคม แก้งบบานปลาย แต่ทำยากต้องหากลไกให้เหมาะสม ด้าน "นิมิตร์" จวก รมว.สธ.พูดไม่หมด ชี้ คกก.เสนอหาแนวทางบริหารงบ 3 กองทุนแบบยั่งยืน ไม่ใช่ประชาชนร่วมรัฐจ่ายสมทบ

ภายหลัง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะแก้ปัญหางบประมาณสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยเสนอแนวทาง "ประชารัฐ" ร่วมกันหาความยั่งยืนของระบบหลักประกันฯ ว่าจะดำเนินการแบบไหน อย่างไร เพราะจะให้รัฐบาลรับผิดชอบงบประมาณทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียวไม่ไหว โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ เพื่อระดมข้อมูลหาทางออก

ล่าสุด ศ.อัมมาร สยามวาลา ที่ปรึกษาคณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรฯ กล่าวว่า หากจะให้ประชาชนร่วมจ่ายหรือร่วมสมทบ ต้องไม่ใช่จุดบริการหรือโรงพยาบาล แต่ต้องจ่ายก่อนล่วงหน้าในรูปแบบต่างๆ ซึ่งกรณีการจ่ายในรูปแบบภาษีนั้น ข้อเท็จจริงทุกวันนี้ประชาชนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว หากพูดถึงระบบบัตรทองอาจต้องจ่ายคล้ายๆ ของกองทุนประกันสังคม ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก เพราะกองทุนประกันสังคมจ่ายสมทบ เพราะนายจ้างช่วยเก็บในส่วนของผู้ประกันตนหรือลูกจ้างเข้ากองทุนให้ แต่สิทธิบัตรทองจะแตกต่าง เนื่องจากคนในสิทธิประกอบอาชีพอิสระส่วนใหญ่ หากจะมีการเรียกเก็บจริงๆ ก็ต้องมาพิจารณากลไกให้เหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่า การจะควบคุมงบประมาณค่ารักษาพยาบาลต้องทำทั้งสามกองทุนสุขภาพ คือ ข้าราชการ บัตรทอง และประกันสังคมหรือไม่ ศ.อัมมาร กล่าวว่า พูดง่าย แต่ทำยาก เพราะแต่ละกองทุนมีกฎหมายเฉพาะ มีการทำงานของแต่ละกระทรวง อย่างสิทธิข้าราชการ จะมีกรมบัญชีกลางดูแล ซึ่งที่ผ่านมาแม้จะจำกัดการใช้งบกองทุนไม่เกิน 6 หมื่นล้านบาท แต่โดยหลักการต้องลดงบประมาณลง

นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ เลขานุการคณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรฯ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรี สธ. มีการศึกษาข้อดี ข้อเสีย ของการให้ประชารัฐเข้าร่วมมีส่วนในการขับเคลื่อนให้ระบบบัตรทอง ซึ่งในการศึกษามีการพิจารณาหลายๆ ด้าน ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน แนวโน้มค่าใช้จ่ายในอนาคต เศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าค่าใช้จ่ายมันเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งก็มีการมองไว้หลายแนวทาง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของผลการศึกษานั้นขอให้ที่ประชุมพิจารณาก่อน

ด้าน นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ หนึ่งในคณะกรรมการฯ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข อธิบายต่อสังคมไม่ครบ เพราะจากการประชุมคณะกรรมการฯ ได้เสนอหลักการกว้างๆของการปฎิรูประบบสุขภาพภาพรวมทั้งสามกองทุน ไม่ใช่ว่าจะต้องให้ประชาชนมาร่วมสมทบเงินกับรัฐบาลจนเรียกว่าประชารัฐ โดยที่ประชุมเสนอในหลักการของความยั่งยืน ทำอย่างไรให้งบประมาณด้านสุขภาพทั้งสามกองทุนไม่เกินร้อยละ 17 ของงบประมาณทั้งประเทศ ซึ่งคณะกรรมการได้ศึกษาและมีทางเลือกมากมาย โดยหลักคือไม่กระทบต่อสิทธิพื้นฐานของกองทุนเดิม แต่ต้องเป็นธรรมกับกองทุนอื่นๆ ทั้งนี้ สิทธิประกันสังคมเป็นสิทธิเดียวที่ต้องร่วมจ่ายสมทบ จะทำอย่างไรให้ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งหากต้องจ่ายจริง สิทธิอื่นๆ ก็ควรต้องจ่ายด้วยหรือไม่ เพียงแต่ต้องมาหากลไกให้เหมาะสม

"สามกองทุนสุขภาพนั้นมีงบด้านสุขภาพรวมกว่า 2 แสนล้านบาท โดยสิทธิประกันสังคมมีประมาณ 10 ล้านคน ใช้งบกว่า 2 หมื่นล้านบาทในเรื่องสุขภาพ ส่วนข้าราชการมี 8 ล้านคน ใช้งบสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท แต่บัตรทองมีคนอยู่ในระบบสูงถึง 48 ล้านคนใช้งบประมาณกว่า 1.4 แสนล้านบาท เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการจัดการภาพรวมให้งบอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ ที่ประชุมมีการเถียงกันเรื่องร่วมจ่าย และไม่เห็นด้วยกับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ หรือที่โรงพยาบาลเด็ดขาด แต่หากจะให้ประชาชนจ่ายจริงในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่ม ตรงนี้เห็นด้วย" นายนิมิตร์ กล่าว

นายนิมิตร์ กล่าวว่า ตนมองว่าเงินจำนวน 2 แสนล้านในระบบสุขภาพเพียงพอ อยู่ที่การบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นการปรับเปลี่ยนการเบิกจ่ายเงินของแต่ละกองทุน และการเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละกองทุนก็ต้องพิจารณาให้มากขึ้นโดยต้องมีหลักฐานวิชาการ ความคุ้มทุนรองรับ และต้องควบคุมราคายาให้มีความเป็นธรรม มีการสนับสนุนองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ผลิตยาดีมีคุณภาพ แต่ราคาถูก แก้ปัญหายาต่างชาติที่จดสิทธิบัตรจนผูกขาดการตลาด เป็นต้น ส่วนเรื่องโรงพยาบาลขาดทุนจากบัตรทองนั้น ต้องไปดูสาเหตุมีการพูดกันมาตลอด จริงๆขาดทุนเพราะหลายปัจจัย ทั้งการจ้างบุคลากรมากทำให้ต้นทุนสูง เรื่องประชากรในพื้นที่น้อยทำให้ได้รับงบเหมาจ่ายรายหัวจากบัตรทองน้อยตาม และอยู่ที่การบริหารจัดการของโรงพยาบาลด้วย เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขรู้ดีและมีการแก้ปัญหาตลอด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น