เร่งทำ “สิทธิประโยชน์หลักสุขภาพ” เท่ากัน 3 กองทุน “ข้าราชการ - ประกันสังคม - บัตรทอง” สร้างความเป็นธรรม - ความยั่งยืนระบบประกันสุขภาพ พร้อมทำสิทธิประโยชน์เสริมแต่ละกองทุน และบริการเสริมจ่ายเพิ่มเอง
วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ ศูนย์ราชการฯ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการระดับชาติด้านลักประกันสุขภาพของประเทศไทย ครั้งที่ 2 : ยั่งยืนด้วยคุณภาพ ประสิทธิภาพและความเป็นธรรม และการประชุมชี้แจงการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2560 จัดโดย สธ. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ของประเทศไทย ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่นานาชาติเอาเป็นตัวอย่าง ตลอดระยะเวลา 14 ปี ที่มีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ก็มีการพัฒนามาโดยตลอด ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และประชากร อย่างปัจจุบันคนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็ต้องมีการพัฒนาให้เหมาะสม
“การพัฒนาระบบสุขภาพให้ไปข้างหน้า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือปฏิรูป แต่ยืนยันว่า การดูแลนั้นไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน สิทธิเดิมที่เคยได้รับยังต้องเหมือนเดิม และจะต้องได้รับการดูแลที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ และจะเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ซึ่งถือเป็นหัวใจ เพราะหากประชาชนสุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยมาก ก็จะช่วยลดงบประมาณค่ารักษาพยาบาลลงได้ และหากเจ็บป่วยก็ต้องได้รับการดูแล นอกจากนี้ ยังต้องพัฒนาบุคลากร ระบบ และข้อมูลให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพด้วย” นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการจัดทำแนวทางการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ได้เสนอให้มีการจัดทำสิทธิประโยชน์หลัก หรือ แพกเกจพื้นฐานว่ามีอะไรบ้าง ในทุกสิทธิการรักษาทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และบัตรทอง ซึ่งยังต้องใช้เวลาในการจัดทำรายละเอียด สำหรับการสร้างความยั่งยืนด้านระบบการเงินการคลังในระบบประกันสุขภาพอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะได้รับเงินเพิ่มจากไหนบ้าง ซึ่งก็มีหลากหลายข้อเสนอทั้งเรื่องของภาษี ฯลฯ แต่หลักการคือระบบต้องเดินด้วยตัวเองได้ โดยอาศัยงบจากภาครัฐและส่วนอื่น แต่หากไม่ดีกว่าจะเดิมยืนยันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแน่นอน
“ส่วนจะมีการร่วมจ่ายหรือไม่อย่างไร ก็ต้องมาดูว่าเมื่อมีสิทธิประโยชน์พื้นฐานแล้ว สิ่งที่เป็นส่วนเพิ่มจากนี้จะมาจากไหนได้อย่างไรบ้าง ซึ่งต้องเข้าใจว่าไม่มีประเทศไหนในโลกนี้ที่ได้ทุกอย่างเท่ากันหมด แม้แต่ประเทศที่รวยที่สุดในโลกก็ทำไม่ได้ที่ให้ประชาชนได้รับสิทธิรักษาเท่ากันหมด อย่างจะให้ทุกคนนอนพักรักษาในห้องสวีทเหมือนกันหมดก็ไม่ได้ แต่สิทธิประโยชน์พื้นฐานทุกคนต้องได้เท่าเทียมกัยหมด” รมว.สธ. กล่าว
ศ.นพ.ภิรมย์ กล่าวว่า หลังจาก รมว.สธ. แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแนวทางพัฒนาระบบฯ ตนได้ตั้งคณะทำงานเพิ่มขึ้น 4 ชุด คือ 1. ยั่งยืนและเพียงพอ 2. ความเป็นธรรม 3. จัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. ให้บริการแบบมีประสิทธิภาพ ในขั้นต้นคณะกรรมการจะเสนอของคณะทำงานชุดที่ 2 ก่อน คือ เรื่องความเป็นธรรม โดยเรื่องความเป็นธรรมระหว่างระบบประกันสุขภาพ เสนอให้มีการจัดทำชุดสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของประชาชน แบ่งเป็น 1. ชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ 2. สิทธิประโยชน์เสริมตามข้อกำหนดแต่ละกองทุน ซึ่งเป็นส่วนที่เพิ่มเติมโดยนายจ้าง เช่น บัตรทองขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของ สปสช. ข้าราชการโดยกรมบัญชีกลาง ผู้ประกันตนโดยประกันสังคม และ 3. ชุดสิทธิประโยชน์เสริม ซึ่งจะเป็นส่วนเพิ่มตามแต่ละบุคคลเองหรือประชาชนจ่ายเองได้
ศ.นพ.ศุภสิทธิ พรรณารุโณทัย อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การกำหนดสิทธิประโยชน์พื้นฐานด้านสุขภาพต้องพิจารณาว่าเป็นบริการที่ผ่านการพิสูจน์ว่ามีคุณภาพและคุ้มทุนตามวิธีการประเมินทางเศรษฐศาสตร์ คำนึงถึงความสามารถในการจ่ายของประเทศ และความเป็นธรรมทางสุขภาพ โดยชุดสิทธิประโยชน์หลักอาจจะต้องพิจารณาทั้งชุดสิทธิประโยชน์หลักด้านสุขภาพ และชุดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพขั้นครัวเรือนล้มละลายที่เป็นการรักษาที่มีราคาแพง ส่วนวิธีดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย คือ ให้มีการกำหนดสิทธิประโยชน์หลักเกิดขึ้นนั้น จะต้องมีการตรากฎหมายให้เป็นกรอบปฏิบัติการร่วมกัน โดยจะต้องออกเป็น พ.ร.บ. ซึ่งขณะนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังพิจารณา อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ใช้ประกันสุขภาพเอกชนจัดบริการตามชุดสิทธิประโยชน์หลัก ต้องมีกลไกกำกับให้ประชาชนได้รับสิทธิประโยชน์หลักเหมือนกัน และกรณีใช้ประกันสุขภาพเอกชนจัดบริการตามชุดสิทธิประโยชน์เสริม จะต้องดูให้ไม่ทับซ้อนกับสิทธิประโยชน์หลัก
ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ กล่าวว่า การกำหนดสิทธิประโยชน์หลักแล้วจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการร่วมจ่ายนั้น ในการออกแบบกฎหมายอาจจะออกแบบระบบร่วมจ่ายให้เป็นตามลำดับจากมากไปน้อยและมีระบบติดตามความเหลื่อมล้ำ โดยอาจจะพิจารณาใน 3 ส่วน คือ 1. ส่งเสริมระบบประกัน โดยให้ร่วมจ่ายก่อนป่วย กรณีที่ไม่ใช่สิทธิประโยชน์หลัก เช่น ค่าห้อง อาหารพิเศษ ส่วนเกินค่าอุปกรณ์การแพทย์ ที่บางส่วนอาจจะให้นายจ้างจ่าย 2. ร่วมจ่ายเมื่อป่วย เฉพาะกรณีเสริมจากสิทธิประโยชน์หลัก เช่น จ่ายเมื่อไปใช้บริการคลินิกนอกเวลา หรือหัตถการไม่เร่งด่วนนอกเวลา และ 3. ร่วมจ่ายเมื่อป่วย กรณีสิทธิประโยชน์หลัก ให้กำหนดเพดานร่วมจ่ายต่อปี เพื่อลดภาระกรณีโรคเรื้อรัง อย่างในประเทศสวีเดนจะให้จ่ายทุกครั้งที่ไปรับบริการรักษาพยาบาล แต่ไม่เกิน 500 บาทต่อปี ทั้งนี้ ในส่วนของคนจนกรณีการร่วมจ่าย อาจออกแบบระบบให้คนจนมีผู้รับผิดชอบแทน โดยเสนอว่าให้จ่ายผ่านกองทุนสุขภาพตำบลที่สปสช.จัดสรรงบให้ส่วนหนึ่งและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สมทบอีกส่วนหนึ่งมาใช้เป็นส่วนร่วมจ่ายเพื่อคนจน เท่ากับเป็นการมอบความรับผิดชอบการคัดกรองคนจนไปที่ อปท.
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่