xs
xsm
sm
md
lg

“ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีสาธารณสุข!!”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
ถ้าผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีเวลาในตำแหน่งไม่นาน และต้องทำนโยบายเพื่อแก้ปัญหาในระบบสาธารณสุขไทย หรือวางรากฐานระบบงานให้ได้สักหนึ่งเรื่องก็พอ คำถามที่ท้าทายก็คือ แล้วผมจะเลือกทำเรื่องอะไร

ผมคิดว่า ความทุกข์ของคนไทยยามเจ็บป่วยนั้น มีทุกข์หนักอยู่ไม่กี่ประการ การสร้างระบบสุขภาพที่ลดความทุกข์ยามที่เจ็บป่วยคือสิ่งที่น่าทำเป็นอันดับต้น ๆ ในปัจจุบัน

ความทุกข์หนักประการแรกของผู้คน คือ เมื่อเจ็บป่วยแล้วไม่มีเงินไปหาหมอ หรือมีก็ไม่พอกับโรคภัยไข้เจ็บที่ปัจจุบันมีค่ารักษาพยาบาลที่แพงมาก จนทำให้บางคนต้องขายนาขายสวน บางคนต้องใช้เงินที่ออมมาทั้งชีวิตจนหมดตัวกลายเป็นคนหนี้ท่วมเพียงชั่วข้ามคืน แต่ปัญหาเหล่านี้ได้คลี่คลายไปมากจากการที่คนไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มี สปสช. สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง มาทำหน้าที่ดูแลให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมบ้างไม่เท่าเทียมบ้างก็ตามที

ความทุกข์ถัดมาเมื่อมีหลักประกันสุขภาพแล้ว ก็คือ ความแออัดคิวยาวรอนานและการบริการที่ไม่ทั่วถึงของโรงพยาบาลของรัฐ โดยเฉพาะโรงพยาบาลประจำจังหวัด หรือที่เรียกกันว่า โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งปัจจุบันทุกแห่งแน่นขนัดเหมือนปลากระปิอง ทั้งที่ตึกผู้ป่วยนอกและหอผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกไปเช้าได้ตรวจเย็น ผู้ป่วยในก็ต้องนอนเตียงเสริมตามระเบียงหรือริมทางเดิน ความแออัดทำให้คุณภาพบริการลดลง รอยยิ้มหายไป ความผิดพลาดจากการรักษาสูงขึ้น และผลการรักษาก็แย่ลงเพราะเวลาที่แพทย์พยาบาลจะมาอธิบายลักษณะโรคให้ผู้ป่วยเข้าใจก็มีเวลาน้อยลงไปด้วย

ความทุกข์ข้อที่สองนี่เองที่เป็นทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ของผู้คนในปัจจุบัน และเป็นเรื่องที่ผมคิดว่า ควรจะเป็นปัญหาที่ถูกเลือกมาแก้ไขก่อนเรื่องอื่นใด

โรงพยาบาลจังหวัดแออัดเป็นปลากระป๋องก็เหมือนปัญหารถติดในกรุงเทพฯ รถติดในกรุงเทพฯแก้ไม่ได้ด้วยการเพิ่มถนน ขยายไหล่ทาง ปรับจุดกลับรถ สร้างทางด่วน อย่างมากก็เพียงชะลอปัญหาให้เบาลง แต่หากไม่กระจายความเจริญสู่ภูมิภาคอย่างจริงจัง ไม่หยุดการเติบโตของกรุงเทพ รถติดในกรุงเทพจะยังสาหัสต่อไป

กรณีความแออัดของโรงพยาบาลจังหวัดก็เป็นเช่นเดียวกับปัญหารถติด การสร้างตึกขยายเตียง การเพิ่มจำนวนแพทย์ - พยาบาล - เจ้าหน้าที่เข้าไปอีก ก็ยิ่งจะทำให้ปัญหาแออัดแย่ลง ความแออัดเป็นความทุกข์หนักของผู้คน คนที่พอมีเงินออมก็จะทิ้งบัตรทอง ยอมเอาเงินออมไปจ่ายซื้อความสะดวกสบายที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน นานเข้านานเข้าระบบบริการสุขภาพจะกลายเป็นระบบบริการสองมาตรฐาน บัตรทองสำหรับคนจนคนไม่มีทางเลือก ส่วนระบบเอกชนสำหรับคนที่พอมีจ่ายหรือจำใจต้องมีจ่าย ซึ่งการมีสองมาตรฐานนี้ไม่ใช่ระบบที่ควรจะเป็น เพราะสุขภาพและความเจ็บป่วยไม่ใช่สินค้า แต่คือสวัสดิการและสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนไม่ว่ารวบหรือจนก็ควรเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและไม่รอนานจนเกินไป

ทางออกของการลดความแออัดของโรงพยาบาลจังหวัด จึงต้องกล้าคิดแบบกลับทิศ ต้องไปพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนอย่างทุ่มเทและจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอขนาดใหญ่ให้มีศักยภาพมากขึ้น มีอาคารสถานที่ที่เพียงพอ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่พอและพร้อม มีการกระจายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาหลักพร้อมครุภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ที่เหมาะสม มีงบประมาณและระบบการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพ กำหนดให้การพัฒนาโรงพยาบาลชุมชนเป็นลำดับความสำคัญแรกภายใต้งบประมาณและกำลังคนที่จำกัด ทั้งนี้เพื่อให้อีกสามปีห้าปีข้างหน้า โรงพยาบาลเหล่านี้จะสามารถเป็นฐานที่มั่นในการดูแลประชาชนในอำเภอนั้นและอำเภอใกล้เคียงได้ สามารถลดการส่งต่อไปสู่โรงพยาบาลจังหวัดได้ และรับการส่งกลับได้ด้วย จึงจะลดความแออัดของโรงพยาบาลจังหวัดได้

ผมยังฝันว่า อีก 10 ปีข้างหน้า เราต้องทำให้อำเภอเมือง หรืออำเภอขนาดใหญ่ที่เป็นที่ตั้งโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปนั้น ต้องมีโรงพยาบาลชุมชนของคนอำเภอนั้น ๆ เองด้วย แล้ววางระบบให้ระบบบริการสุขภาพเดินหน้าไปสู่ระบบที่ทำให้โรงพยาบาลจังหวัดไม่มี OPD walk in หรือไม่มีการเดินเข้ามาขอตรวจเองของคนไข้เลย จะมีก็แต่ผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมาพบแพทย์เฉพาะทาง ผู้ป่วยที่หมอนัดมารับยาต่อเนื่องหรือดูอาการ ผู้ป่วยที่นอนโรงพยาบาลหรือผู้ป่วยฉุกเฉินเท่านั้น

แน่นอนว่า นอกจาการเน้นการดูแลรักษาประชาชนที่เจ็บป่วยแล้ว การส่งเสริมให้แต่ละตำบลมีหมอครอบครัว ส่งเสริมบทบาทการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของ รพ.สต. สนับสนุนระบบการพัฒนาสุขภาพระดับอำเภอ สร้างระบบที่เอื้อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมสร้างสุขภาพอย่างจริงจัง ทำให้กองทุน สสส. และ กองทุนสุขภาพตำบลของ สปสช.ต้องใหญ่ขึ้นและมีงบพอให้ชุมชนร่วมสร้างและดูแลสุขภาพตนเอง เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันสร้างให้คนไทยมีสุขภาพดี ลดการเจ็บป่วยที่ไม่จำเป็นลงให้ได้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุที่สำคัญยิ่ง คนสุขภาพดีขึ้น พึ่งตนเองมาขึ้น ก็จะมาโรงพยาบาลน้อยลง

จะดีขนาดไหนถ้าอีก 10 ปีข้างหน้า โรงพยาบาลใกล้บ้านมีศักยภาพสูงในการดูแลประชาชนในพื้นที่ มีหมอ - พยาบาลประจำครอบครัวที่ใส่ใจดูแลถึงบ้าน มีองค์กรต่าง ๆ ร่วมกันเอาเรื่องสุขภาพ - สุขภาวะเป็นวาระสำคัญของชุมชน

แต่การจะคิดเช่นนี้ เป็นการเดินสวนทิศกลับกับสิ่งที่เกิดขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขในปัจจุบัน ซึ่งไม่ง่าย แรงต้านมาก ต้องการความกล้าหาญ ต้องมีทีมและเครือข่ายที่ร่วมกันผลักดัน ที่สำคัญคือ ต้องการความต่อเนื่องทางนโยบาย

การลดความแออัดของโรงพยาบาลจังหวัดเป็นภารกิจที่ไม่ง่าย ไม่เริ่มวันนี้จะเริ่มวันไหน สังคมสูงอายุก็กำลังมาถึงแล้ว ผู้สูงอายุย่อมต้องเจ็บป่วยและจะทะลักมาโรงพยาบาลมากกว่านี้ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขในยุคปฏิรูปจึงต้องคิดและจัดการเรื่องนี้ มิเช่นนั้นคนไทยที่ไม่มีเงินทองมากพอที่จะไปรับบริการโรงพยาบาลเอกชนก็คงต้องก้มหน้ารับสภาพเช่นนี้ต่อ ๆ ไป และถอนหายใจกับยุคสมัยแห่งการปฏิรูปที่ยังไม่เห็นมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น