ประธาน กมธ.สาธารณสุข สปช. ชี้ไทยควรมี “สภาประกันสุขภาพ” ไม่ใช่รวม 3 กองทุน แต่ดูแลคุณภาพมาตรฐานทุกกองทุน ทำสิทธิรักษาพื้นฐานเท่ากัน แนะคนไทยจ่ายประกันสุขภาพ มีหน่วยงานรัฐทำหน้าที่ บ.ประกัน ลดใช้งบประมาณประเทศ หนุนเขตสุขภาพช่วยแก้ปัญหา แยกงบเงินเดือนและอื่นๆ จากงบรายหัวบัตรทอง
พญ.พรพรรณ บุญรัตพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านสาธารณสุข สภาปฏิรูปแห่งชาติ (กมธ.สธ.สปช.) กล่าวถึงกรณีการร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ เพื่อตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าตนมองว่าประเทศไทยต้องมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่รวบรวมและบริหารจัดการเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานและข้อมูลด้านการรักษาพยาบาลของประเทศ ทำให้การเข้าถึงบริการดีขึ้น และกำหนดสิทธิประโยชน์รักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่จำเป็นเหมือนกัน โดยมีคณะกรรมการนโยบายประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสภาประกันสุขภาพแห่งชาติดำเนินการ แต่ยังไม่ใช่การรวมบริหารจัดการ 3 กองทุน ทั้งนี้ เมื่อมีสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานที่จำเป็นเหมือนกันแล้ว ประชาชนไทยควรทำประกันสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น เพื่อรับสิทธิการรักษาเพิ่มเติม เป็นการมีส่วนร่วมช่วยประเทศในการออกค่ารักษาพยาบาลเพิ่มจากสิทธิในรูปแบบของประกันสุขภาพ โดยรัฐบาลอาจเป็นเจ้าของหน่วยงานที่รับประกันสุขภาพเอง อาจเป็นสำนักงานประกันสังคม (สปส.) หรือหน่วยงานอื่น แต่จำเป็นต้องมีการคิดเรื่องสภาประกันสุขภาพแห่งชาติให้ชัดเจน
“ผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ปัจจุบันมีราว 49 ล้านคน มีคนจนจริง ผู้สูงอายุ เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีและผู้ที่เข้าข่ายเงื่อนไขที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าประกันสุขภาพเพิ่มราว 20 ล้านคน ส่วนที่เหลือเกือบ 30 ล้านคนมีความสามารถที่จะจ่ายเงินทำประกันสุขภาพเองเพื่อรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมได้ ใครมีมากก็จ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย ไม่ควรมีการใช้เงินภาษีแบบ 100% เพราะประเทศไทยยังเป็นประเทศที่มีภาษีปานกลาง เราต้องยอมรับความจริง ขณะที่ผู้ใช้สิทธิข้าราชการก็อาจจะต้องมีส่วนร่วมประกันสุขภาพด้วย โดยอาจจะหักเบี้ยประกันจากเงินเดือนหรือให้หน่วยงานต้นสังกัดรับผิดชอบ ซึ่งรูปแบบก็ต้องมาพิจารณากันต่อไป ข้าราชการจะได้รับสวัสดิการบริการที่ดีขึ้น เพราะบางส่วนข้าราชการก็ได้รับน้อยกว่าบัตรทอง” พญ.พรพรรณกล่าว
พญ.พรพรรณกล่าวว่า หากมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติแบบนี้แล้ว โรงพยาบาลเอกชนก็ดึงเข้ามาร่วมมากขึ้น บริการการรักษาพยาบาลก็ดีขึ้น ความแออัดในโรงพยาบาลรัฐก็ลดลง ประชาชนก็ได้รับประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้ มองว่าควรจัดสรรงบประมาณไปให้ที่ระดับเขตด้วย ซึ่งไม่ใช่เขตสุขภาพเฉพาะ สธ.เท่านั้น แต่รวมของทุกหน่วยงานทุกสังกัดเป็นพื้นที่บริการด้านสาธารณสุขเดียวกัน ดำเนินการบริหารจัดการโดยคณะกรรมการระดับเขตสุขภาพ เป็นรูปแบบที่มีการใช้ในต่างประเทศ รวมถึงการดำเนินการเรื่องประกันสุขภาพก็จะดำเนินการในระดับเขตด้วย ดีกว่าการทำในระดับชาติ และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้ามาช่วยจะทำให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส แม้ที่ผ่านมาจะมีการเริ่มต้นทำเขตสุขภาพมาบ้างแล้วแต่ก็เกิดการชะงัก รัฐบาลต้องทดลองและผลักดันในเรื่องนี้ให้เดินหน้าต่อไป
“สำหรับการบริหารงบบัตรทอง สปสช.ต้องพิจารณาว่ามีการใช้งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวอย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องหรือไม่ โดยเสนอว่าควรที่จะแยกเงินเดือนบุคลากรสังกัด สธ.ออกจากงบฯ รายหัว เนื่องจากงบประมาณในส่วนนี้ขอมาเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลให้กับประชาชนก็ควรนำมาใช้รักษาพยาบาลอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ควรใช้ไปเป็นค่าเงินเดือน ค่าเสื่อมหรือค่าอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรักษาและการส่งเสริมป้องกันโรคให้กับประชาชน” พญ.พรพรรณกล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่