xs
xsm
sm
md
lg

ขยายผลงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูจากที่ตั้งสู่ชุมชน เพิ่มประสิทธิภาพดูแลผู้ป่วยติดบ้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ หรือที่มักคุ้นหูกับคำว่า “เวชศาสตร์ฟื้นฟู” นับเป็นงานใหญ่และสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาชีวิตให้ผู้ป่วยหายขาด หรือบรรเทาจากความเจ็บป่วยที่มี โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบ เส้นเลือดในสมองแตก ฯลฯ โรคเหล่านี้เมื่อรักษาหายแต่ผู้ป่วยยังต้องเผชิญภาวะเสี่ยงพิการ อันเนื่องจากไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ตามปกติ จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูซึ่งต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมามักพบว่าโรงพยาบาลหลายแห่งมีปัญหาเตียงไม่เพียงพอและจำเป็นต้องใช้เตียงที่มีรองรับผู้ป่วยที่มีอาการวิกฤตกว่า และให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ เดินทางไป-กลับแทน

ด้วยเป้าหมายที่ตรงกันเพื่อดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน นพ.หาญชัย พินัยกุล แพทย์แผนกเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลศูนย์หาดใหญ่ เปิดเผยว่า ในแต่ละวันเรามีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ปัญหาคือเรามีเตียงไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยทุกคน ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยกลุ่มนี้หายจากอาการของโรคแล้วแต่อาจหลงเหลือความพิการ เช่น ไม่สามารถยกแขนขาได้ ฯลฯ ซึ่งต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ ก็จำเป็นต้องให้กลับบ้านเพื่อนำเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องพักรักษาตัว แล้วนัดผู้ป่วยกลุ่มนี้มาทำกายภาพที่โรงพยาบาลซึ่งมักประสบปัญหาขาดความต่อเนื่อง ขณะที่ญาติผู้ป่วยขาดความรู้ในการดูแลอย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ฯ เล็งเห็นว่าโรงพยาบาลศูนย์ฯ อยู่ไม่ไกลจากชุมชนน่าจะสร้างเครือข่ายกับโรงพยาบาลชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียง ตามนโยบายลดความแออัดของโรงพยาบาลเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลขนาดเล็กของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกอบกับทาง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็มีเป้าหมายเดียวกันที่จะพัฒนาดูแลสุขภาพชุมชน มีโครงการและมีการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลสุขภาพของผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ดังนั้น จึงร่วมกับโรงพยาบาลบางกล่ำ พัฒนาจนยกระดับเป็นศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและเป็นเครือข่ายของโรงพยาบาลศูนย์ฯ ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล บุคลากร นักกายภาพบำบัดและเตียงพร้อมรับส่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ไปดูแล มีการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จผู้ป่วยทุกสิทธิการรักษาทั้งบัตรทอง ประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ สามารถทำเรื่องเบิกจ่ายที่โรงพยาบาลบางกล่ำได้ ขณะที่กรณีผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ทาง สปสช.ก็จะสนับสนุนงบรายหัวให้ด้วย

“ในการวางระบบฟื้นฟูผู้ป่วยที่ส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางกล่ำ ผมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สามารถฟื้นฟูได้ และฟื้นฟูไม่ได้ โดยกลุ่มที่ฟื้นฟูได้จะมีจำนวนค่อนข้างมากหลังจากพ้นจากโรค เช่น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดตีบ 10 คน จะพบว่ามี 1 รายที่หายเป็นปกติไม่มีภาวะพิการหลงเหลือ 1 รายที่พิการถาวร และ 8 รายสามารถฟื้นฟูได้เมื่อรักษาโรคหายแล้วเราจึงเน้นนำผู้ป่วยกลุ่มนี้มาฟื้นฟูโดยให้เข้าพักที่โรงพยาบาลบางกล่ำ มีนักกายภาพบำบัดดูแลตามหลักเวชศาสตร์ ส่วนกลุ่มที่ฟื้นฟูไม่ได้ ก็จะใช้วิธีการประคับประคองให้ความรู้ญาติผู้ป่วยดูแลเพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค เช่น แผลกดทับ เป็นต้น โดยตลลอดมาโรงพยาบาลทั้งสองแห่งร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ผมและทีมแพทย์จะลงไปช่วยในการรักษาติดตามและพัฒนาผู้ป่วยต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วย และจนถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณ 2 ปีที่ร่วมกันดูแลผู้ป่วยในทุกสิทธิการรักษาทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองมีจำนวนมากที่สุด และสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหลายคนพ้นจากภาวะความพิการกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ ขณะเดียวกันทางก็กำลังจะขยายผลลงไปดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนด้วย” นพ.หาญชัย อธิบายถึงการทำงาน

ขณะที่ นพ.สุริยะ สุพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางกล่ำ กล่าวว่า ในการทำงานที่ผ่านมาได้ร่วมกับโรงพยาบาลศูนย์ฯ ในการรับส่งผู้ป่วยมารักษาต่อซึ่งทางโรงพยาบาลศูนย์ฯจะส่งทีมแพทย์มาดูแลติดตามต่อเนื่องและได้รับการสนับสนุนงบประมาณและการทำงานทั้งจาก สธ. และ สปสช. การดูแลผู้ป่วยที่มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลบางกล่ำเป็นไปอย่างมีระบบดูแลแบบครบวงจรทั้งทางกาย สุขภาพจิต ฝึกการเข้าสังคม ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยและญาติพึงพอใจต่อการบริการ หลายรายได้รับการฟื้นฟูจนสามารถกลับไปมีชีวิตปกติ เช่น ไปทำงานได้เหมือนเดิม หรือผู้สูงอายุก็เคลื่อนไหวดูแลตัวเองได้ปกติ หรือดีขึ้นจากภาวะที่เป็นอยู่ เป็นต้น

“ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ป่วยที่มาพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้นที่ควรได้รับการดูแล แต่ยังไม่ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนที่ไม่สามารถออกมารับบริการได้ด้วยข้อจำกัดต่างๆ เพราะฉะนั้น โรงพยาบาลบางกล่ำจึงขยายงานเวชศาสตร์ฟื้นฟูไปสู่ชุมชนลงไปค้นหาผู้ป่วยถึงบ้านและตั้ง “ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการในชุมชน” ให้ผู้ป่วยที่ไม่สะดวกเดินทางไปพยาบาลมาใช้บริการที่นี่ ซึ่งเป็นความร่วมมือจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ สปสช. เขต 12 สงขลาในการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการโดยเปิดไปแล้ว 4 ศูนย์และกำลังจะเป็นศูนย์ที่ 5 โดยที่ศูนย์ดังกล่าวจะมีทีมแพทย์ เจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดและเจ้าหน้าที่จิตอาสาคอยให้บริการ ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการดูแลรักษาเหมือนที่มารับบริการที่โรงพยาบาลบางกล่ำต่างกันเพียงที่ศูนย์ไม่สามารถนอนพักได้ ส่วนผู้ป่วยที่ติดบ้านไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เราจะส่งทีมแพทย์ไปค้นหาและลงไปดูแลทำกายภาพให้ที่บ้านเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ”ผอ.โรงพยาบาลบางกล่ำ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่





กำลังโหลดความคิดเห็น