บอร์ด สสส. รับลูก สธ. รื้อใหญ่ระเบียบ 26 ฉบับ กำหนดชัดขอบเขตการสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ พร้อมยกระดับคุณสมบัติ กก. กองทุนฯ ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน “รองนายกฯ” ส่งหนังสือถึง คตร. เร่งพิจารณาโครงการ เหตุภาคีเดือดร้อน
วันนี้ (18 ธ.ค.) พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด สสส. ว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งคณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลำดับรองของ สสส. ที่มี นพ.เสรี ตู้จินดา เป็นประธาน ได้พิจารณาและเสนอให้ปรับแก้ไขข้อบังคับ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ สสส. จำนวน 26 ฉบับนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว และเห็นชอบให้ปรับปรุงทั้ง 26 ฉบับ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 และเพื่อให้การบริหารจัดการ มีความชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ การกำหนดขอบเขตงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปรับแก้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรเงินเพื่อการสนับสนุนโครงการและกิจกรรม เป็นต้น โดยเชื่อว่าการปรับแก้ระเบียบจะให้เวลาไม่นานที่จะสามารถลงนามปรับแก้ได้ทันที
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า กรณีการมีส่วนได้ส่วนเสียของกรรมการให้ปรับแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบกองทุนฯ ว่าด้วยประมวลจริยธรรมของผู้จัดการและเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2553 และจรรยาบรรณคณะกรรมการกองทุนฯ กำหนดไม่ให้คณะกรรมการ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ กรรมการบริหารแผนฯ กรรมการประเมินผลฯ มีส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เสนอขอรับทุน อาทิ เป็นกรรมการ ผู้บริหารองค์กรที่รับทุนจาก สสส. ยกเว้นเป็นองค์กรภาครัฐ เช่น มีตำแหน่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เป็นต้น โดยบอร์ด มีข้อสรุปว่า ให้เวลาคณะกรรมการดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบภายใน 90 วัน หลังจากมีการแก้ระเบียบแล้วเสร็จ
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ภายหลังจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณนั้น จะมีการลงนามรายงานผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวให้ คตร. ได้รับทราบ เพื่อขอความเห็นใจให้ยกเลิกการชะลอการใช้จ่ายงบของ สสส. โดยเร็วที่สุด เนื่องจากปัจจุบันมีภาคีได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยพบว่าหลายโครงการที่เป็นองค์กรรับทุนจาก สสส. ซึ่งมีการทำสัญญาต่อเนื่องมีภาคีและผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 4,600 คน เมื่อไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ ก็ทำให้ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้กับบุคลากรในองค์กรผู้รับทุนได้ ซึ่งส่วนหนึ่งมีการสำรองจ่ายไปก่อน แต่หากยืดเวลาการเบิกจ่ายออกไปอีกก็จะทำให้เกิดความเดือดร้อนขึ้น ซึ่งจะมีการเสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาผ่อนผันหรือหาแนวทางเยียวยาต่อไป
“สำหรับการอนุมัติโครงการในอนาคตนั้น ในการแก้ระเบียบที่จะมีการปรับแก้ได้มีการระบุถึงการจำกัดลักษณะของโครงการเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นในเรื่องของคำว่าสุขภาพ เพื่อไม่ให้มีการครอบคลุมคำว่าสุขภาพอย่างไม่มีข้อจำกัดเหมือนที่ผ่านมา ส่วนโครงการที่ดำเนินการมาต่อเนื่องก็ยังต้องดำเนินการต่อไป” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่