xs
xsm
sm
md
lg

จับตา 10 พ.ย. เคาะแนวทางแก้ สสส. ชงแก้ กม. ตีกรอบ “สุขภาพ” ขอบเขตที่ สสส.ทำได้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


จับตา 10 พ.ย. เคาะแนวทางแก้ปัญหา สสส. มีลุ้นปรับแก้ กม. ทั้ง พ.ร.บ.และระเบียบลูก ชี้ การบริหารจัดการต้องปรับปรุง ส่วนนิยาม “สุขภาพ” เสนอตีกรอบส่วนที่ สสส. ทำได้ เหตุสุขภาพใหญ่มาก สสส. ไม่มีปัญญาทำได้หมด ด้าน สสส. ระบุไม่จำเป็นต้องแก้ พ.ร.บ.

วันนี้ (3 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่งมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน โดยการประชุมในครั้งนี้มี ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รักษาการผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าชี้แจงประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารงานของ สสส. ตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย อาทิ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมถึงคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของ สสส. เป็นต้น

นพ.เสรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมนานกว่า 3 ชั่วโมง ว่า ที่ประชุมได้นำผลการตรวจสอบของ คตร. มาสอบถาม และให้ สสส. ชี้แจงทุกประเด็น ซึ่ง สสส. ก็ได้ชี้แจงทั้งหมดแล้ว แต่หากประเด็นใดที่ สสส. คิดว่าคำตอบยังไม่ชัดเจน ก็เปิดโอกาสให้ส่งเอกสารในประเด็นต่าง ๆ เข้ามาชี้แจงเพิ่มเติมได้ภายในวันที่ 6 พ.ย. นี้ โดยจะสรุปผลในการประชุมวันที่ 10 พ.ย. จากนั้นจะนำเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อตัดสินใจว่าจะดำเนินการหรือวางแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรต่อไป

นพ.เสรี กล่าวว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า การแก้กฎหมายเป็นแนวทางการแก้ปัญหาหนึ่ง ซึ่งมีทั้งการแก้ภาพใหญ่ คือ การแก้ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 หรืออาจเป็นการปรับแก้ภาพเล็ก คือ การแก้ระเบียบปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ซึ่งต้องยอมรับว่า ตรงไหนที่เป็นจุดอ่อนก็ต้องปรับแก้ เพราะอย่างตัว พ.ร.บ. เองก็ยอมรับว่ามีจุดอ่อน คือ มีการใช้มานานกว่า 15 ปีแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับแก้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยจุดอ่อนที่สุดที่อาจต้องมีกาปรับ คือ เรื่องการบริหารจัดการ การดำเนินงานกองทุน เหมือนอย่างปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนนิยามของคำว่า “สุขภาพและสุขภาวะ” นั้นเป็นเรื่องใหญ่ หาก สสส. จะทำทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ อาจจะต้องมีตีกรอบคำว่าสุขภาพและสุขภาวะที่ สสส. สามารถทำได้อยู่ในระดับใด แต่ยังไม่ลงรายละเอียดแน่ชัด อย่างไรก็ตาม แนวคิดดังกล่าวยังไม่ได้มีการเสนอในที่ประชุมหรือสรุปว่าจะใช้แนวทางไหนในการดำเนินการ ซึ่งต้องรอการประชุมครั้งหน้า

ด้าน ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า คณะกรรมการได้เปิดโอกาสให้ สสส. ให้ข้อมูลในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของ สสส. ได้มอบเอกสารที่เป็นรายละเอียดการชี้แจงให้กับคณะกรรมการฯไปแล้ว โดยมีการลงลึกรายละเอียดในประเด็นต่างๆ มากขึ้น ทั้งนี้ ในเรื่องของการปรับแก้กฎหมายหรือระเบียบกองทุนนั้น มองว่า สสส. มีเครื่องมือในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแนวทางที่คณะกรรมการชุดนี้ต้องการได้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรับแก้ พ.ร.บ. เพราะจะมีกลไกและขั้นตอนในการปรับแก้ค่อนข้างนาน ดังนั้น สสส. สามารถปรับแก้ไขระเบียบข้อบังคับ หรือออกเป็นกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ. ได้ โดยการปรับแก้กฎระเบียบนั้น สามารถทำได้โดยการเสนอคณะกรรมการบริหารกองทุน สสส. ในการตั้งคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะเชิญรัฐมนตรีว่าการ สธ. เข้าร่วมพิจารณา เพื่อทำงานในเรื่องปรับกฎระเบียบได้

“สำหรับนิยามของคำว่า สุขภาพ ไม่น่ามีปัญหา เพราะเป็นนิยามที่ใช้กันตามหลักสากล และกระทรวงสาธารณสุขก็ใช้เช่นกัน แต่หัวใจสำคัญ คือ การกำหนดแผนการทำงานแต่ละปีมากกว่า ว่าจะมีหลักเกณฑ์ วิธีการจัดสรรงบประมาณอย่างไรให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ส่วนเรื่องที่สังคมตั้งคำถามกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนนั้น ปัจจุบัน สสส. มีกรอบปฏิบัติเรื่องจรรยาบรรณของกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิทุกคนอยู่แล้ว แต่หลังจากนี้ จะปรับปรุงให้เข้มข้นขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีการแก้ระเบียบให้เข้มงวดมากขึ้นก็จะแก้ปัญหาได้เช่นกัน” ทพ.สุปรีดา กล่าวและว่า ส่วนวิธีการจัดสรรงบประมาณของสสส.นั้น เป็นไปตามเกณฑ์เดียวกับองค์กรมหาชนอื่น ๆ หากปรับแก้ก็ต้องปรับองค์กรอื่นหมด

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น