xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายสุขภาพยื่น 4 ข้อเสนอ ห้ามแก้ พ.ร.บ.สสส.ตรวจสอบผูกขาดรับทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เครือข่ายสุขภาพยื่น 4 ข้อเสนอ คกก. กำหนดทิศ สสส. จี้ห้ามแก้ พ.ร.บ. ย้ำนิยามสุขภาพเป็นหลักสากลแล้ว แนะแก้แค่ระเบียบ ขอให้กรรมการ สสส. ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเลือกตำแหน่งเดียว ตรวจสอบการผูกขาดรับทุน

วันนี้ (3 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. เครือข่ายสุขภาพภาคประชาชนประมาณ 30 คน นำโดย นายภาคภูมิ สุกใส ผู้ประสานงานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และนายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานขบวนการสร้างเสริมสุขภาพภาคประชาชน เดินทางเข้าพบ นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 เพื่อนำร่างข้อเสนอภาคประชาชนเพื่อปรับปรุงแก้ไขระเบียบกองทุน สสส. ให้ที่ประชุมพิจารณา พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.สสส.

นายคำรณ กล่าวว่า ทางเครือข่ายมีข้อเสนอมายื่นต่อคณะกรรมการ 4 ข้อ คือ 1. คัดค้านการแก้พ.ร.บ.กองทุนใหม่ โดยเฉพาะมาตรา 3 เรื่องนิยาม ขอบเขตของคำว่าสุขภาพ ซึ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้นเป็นหลักการสากลแล้ว แต่ให้ไปแก้ไขระเบียบหรือออกกฎหมายลูกแทน 2. ขอให้กรรมการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนพิจารณาเลือกดำรงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง ระหว่างจะเป็นกรรมการ สสส. หรือจะเป็นกรรรมการมูลนิธิ 3. ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดโครงการที่ผู้รับทุนถูกกล่าวหาว่ารับทุนต่อเนื่องผูกขาดว่าดำเนินการได้ผลมากแค่ไหน และเปรียบเทียบวงเงินของผู้รับทุนต่อเนื่องกับผู้รับทุนหน้าใหม่ และ 4. ขอให้ สสส. เป็นองค์กรอิสระ ที่บริหารงานอย่างอิสระ โดยเฉพาะการบริหารงบประมาณขอให้ดำเนินการในลักษณะเดิม เพราะหากนำเข้าระบบงบประมาณของรัฐ จะทำไม่เป็นอิสระและอาจถูกให้เข้าไปอยู่ในการดูแลกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง เช่น กระทรวงการคลัง อาจจะกลายเป็นการเปิดช่องให้เกิดการแทรกแซงจากฝ้ายการเมืองได้

“ในเรื่องการแก้ระเบียบของ สสส. นั้น เปรียบเทียบได้กฎหมายลูก โดยการแก้ไขจะต้องผ่านความเห็นชอบจากบอร์ด และ ครม. ซึ่งหากจะต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ. เครือข่ายยืนยันว่าจะคัดค้าน เพราะการแก้กฎหมายนั้น มีขั้นตอนที่ใช้เวลานานและเสี่ยงต่อการถูกแทรกแซงจากผู้เสียผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ เช่น การตัดนิยามข้อใดข้อหนึ่งออก ไม่ว่าจะเป็นการทำงานด้านกาย กาย ใจ ปัญญา สังคม ก็ถือว่าไม่เป็นตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. แล้ว” นายคำรณ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น