xs
xsm
sm
md
lg

บิ๊กต๊อกชงแก้กม.3มาตรา สางปัญหาสสส.ไม่โปร่งใส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 15.00 น.วานนี้ (26ต.ค.) ที่ตึกสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) มีตัวแทนจาก คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เข้าร่วม เพื่อพิจารณากรณีการใช้จ่ายงบประมาณของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) โดยมี นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. เข้าชี้แจง โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง
พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวภายหลังการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ไม่ได้เข้าไปดูในประเด็นทุจริต แต่เป็นเรื่องการบริหารจัดการของ สสส. โดยเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่าย คือ สตง. คตร. กับตัวแทนของ สสส. เข้าชี้แจง ซึ่งทั้งคู่เห็นตรงกันว่า การบริหารงานของสสส. ทำให้คนมองเหมือนมีปัญหา เพราะ พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 กว้างมาก จึงจะต้องไปคุยกัน โดยหลักๆจะมีประมาณ 3 มาตรา คือ มาตรา 3 เกี่ยวกับคำนิยามของการเสริมสร้างสุขภาวะที่กว้างมาก ทำให้เข้าใจว่า สสส. จะทำอะไรก็ได้เพื่อสุขภาพ ทำให้เกิดความกังขา จึงต้องมีการปรับ ปรุงคำนิยามในส่วนนี้
มาตรา 10 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่า นี่คือเงินแผ่นดินที่จะต้องดูแล และใช้ประโยชน์ให้เต็มที่
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องคณะกรรมการ (บอร์ด) สสส. ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะบางคนเป็นกรรมการ และมีมูลนิธิของตัวเองด้วย แล้วก็ของบเข้าไป จนทำให้เกิดปัญหา ดังนั้นหลังจากนี้ตนจะรายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทราบ อีกทั้งจะส่งเรื่องให้ รมว.สาธารณสุข ให้ไปดูในรายละเอียดของทั้ง 3 มาตรา เพื่อให้การใช้งบประมาณแผ่นดินไม่เป็นที่เคลือบแคลงอีกต่อไป คือต้องไปปรับปรุง นิยาม ปรับปรุงการใช้เงิน และ ที่มาที่มาไปของคณะกรรมการ ซึ่งทราบว่า รมว.สาธารณสุขจะเรียกประชุม ในวันที่ 27 ต.ค.นี้ อย่างไรก็ตาม ตนบอกที่ประชุมว่า ในเมื่อต้องการใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวการเปลี่ยนแปลงของแง่กฎหมาย ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อ
ให้ สสส. เป็นหน่วยงานที่ดี
"หน้าที่ของ ศอตช.ในส่วนนี้ถือว่าได้ข้อยุติแล้ว คือการให้แก้ไข 3 มาตราข้างต้น ที่สังคมมองว่าอาจไม่โปร่งใส ซึ่งทั้ง 3 มาตรา ต้องนำไปสู่การแก้ไข ส่วนเรื่องการตรวจสอบงบประมาณของสสส.นั้น ศอตช.ก็ยังตรวจสอบ เพราะต้องตรวจสอบทุกองค์กร ไม่ใช่แค่ สสส. เท่านั้น ซึ่ง ศอตช. ก็ทำมาโดยตลอด หากพบว่ามีการใช้งบประมาณโดยทุจริต ก็ว่ากันตามกฎหมาย" พล.อ.ไพบูลย์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตรวจสอบที่ผ่านมาของ สตง. ที่พบว่ามีบางหน่วยงานใช้งบประมาณ สสส. ผิดวัตถุประสงค์ จะยังตรวจสอบอยู่หรือไม่ พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ก็ยังตรวจสอบอยู่ อย่างไรก็ดี จะไม่ใช่ตรวจสอบแค่ สสส. จะต้องตรวจสอบทุกองค์กรเช่นกัน

ด้านรศ.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของสสส. ซึ่ง ครม.แต่งตั้งเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา กล่าวถึงกรณีนักวิชาการออกมาคัดค้านการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เพราะไม่เหมาะสม บางคนเกี่ยวข้องกับ สสส. อาจมีส่วนได้ส่วนเสียว่า คณะกรรมการชุดนี้ แต่งตั้งตามมติ ครม. หากมองว่าบางคนมีส่วนได้ส่วนเสีย ก็ต้องถามว่าเป็นใครบ้าง ที่สำคัญคณะกรรมการชุดนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการตรวจสอบ หรือ สะสาง สสส. แม้แต่น้อย ซึ่งการแต่งตั้งก็เป็นไปตามระบบ และอยู่ภายในกฎหมาย ส่วนการตรวจสอบ สสส.ไม่ใช่หน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ แต่หน้าที่ของอีกหน่วยงาน จึงอยากให้ทำความเข้าใจก่อน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์ปฏิบัติการโรคทางสมอง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับกรอบแนวคิดของ สสส.เป็นเรื่องดี ในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีการพิจารณา หรือประมวลผลการทำงานตลอด 14 ปีที่ผ่านมา ว่ามีอะไรบ้าง และประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องยอมรับว่าในสายตาคนภายนอก ยังรู้สึกไม่ชัดเจนมากนัก ต้องมีการปรับปรุงให้เห็นผลชัดเจนขึ้น รวมทั้งเรื่องการบริหารภายในของ สสส. รูปแบบไม่แตกต่างจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตรงที่ให้งบประมาณ และตั้งเกณฑ์ขึ้นมาว่า โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องทำการบริการรักษาแบบนี้ จึงจะได้งบฯตามเป้า หากไม่ทำก็จะไม่ได้ ซึ่งในความเป็นจริง โรงพยาบาลก็มีข้อจำกัด ทำให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ สสส.จะสนับสนุนงบฯ ให้แก่เครือข่ายในการโครงการต่างๆ โดย สสส. ตรวจสอบและประเมินผลเอง ทั้งที่หากจะให้ดีควรแยกออกจากกัน ระหว่างผู้ให้ทุน และผู้ประเมินโครงการ ดังนั้น มองว่า ไม่ว่าการตรวจสอบจะออกมาอย่างไร หากปรับปรับปรุงตรงนี้ได้ ก็จะดี จะทำให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น