สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กำลังเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งสำนักงานขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 เมื่อถูกตรวจสอบจากคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. และ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พบว่า มีการใข้เงินผิดวัตถุประสงค์ ไม่เป็นไปตามระเบียบของการใช้งบประมาณแผ่นดิน และสั่งให้ตัวแทน สสส. เข้าชี้แจงในวันจันทร์ที่ 26 ตุลาคมนี้
ในยุคที่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง สสส. เคยตกเป็นเป้าหมายของการตรวจสอบการใช้งบประมาณอยู่หลายครั้ง แต่ก็เอาตัวรอด ผ่านไปด้วยดี ด้วยข้ออ้างกับสังคมว่า การดำเนินงานของ สสส. ถูก สตง.ตรวจสอบทุกปีอยู่แล้ว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ความไม่โปรง่ใส ของ สสส. คือความพยายามของฝ่ายการเมืองที่ต้องการจะเข้ามาควบคุมงบประมาณของ สสส.
ในยุครัฐบาลทหารที่มาจากการยึดอำนาจ หนึ่งในองค์กรเครือข่ายตระกูล ส. คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ซึ่งควบคุมบริหารงบประมาณ 30 บาทรักษาทุกโรค ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากบุคลากรในวงการสาธารณสุข นักวิชาการ ในทำนองเดียวกันว่า มีการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน และถูกตรวจสอบจาก คตร. สตง. จนเลขาธิการ สปสช.ถูกนายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 สั่งพักงานจนถึงบัดนี้
สำหรับ สสส. ข้อสรุปของ คตร. และ สตง. ว่า ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ ทันตแพทย์ กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ กองทุน สสส ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อ เปิดทางให้มีการตรวจสอบ
นอกจากข้อสรุปของ คตร. และ สตง. แล้ว สสส. ยังต้องเผชิญกับการตรวจสอบจาก นักวิชาการ จากนิด้า นายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ซึ่งเขียนบทคว่าม ออกทีวี วิพากษ์ วิจารณ์ สสส.ว่า ไม่โปร่งใสอย่างไร ซึ่งไม่ได้กล่าวหาลอยๆ แต่มีข้อมูลที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้เรื่องที่นายอานนท์ เขียน และพูด ได้รับการรับฟัง และมีสื่อมวลชนนำไปเผยแพร่
นับเป็นครั้งแรกอีกเหมือนกันที่สื่อเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่เห็นต่างจาก สสส.แม้จะมีเพียงน้อยราย และไม่ใช่สื่อยักษ์ใหญ่ แต่ในยุคโซเชียลมีเดีย ที่ข้อมูลถูกส่งต่อและแบง่ปันอย่างไม่มีขอบเขต ก็เพียงพอแล้วที่จะเผยอีกด้านหนึ่งของ สสส.
เสียงวิจารณ์ติติงการใช้เงินของ สสส.ถูกกล่าวหากลับว่า เป็นตัวแทนของบริษัทเหล้า และบุหรี่ที่จ้องจะทำลาย สสส.อยู่แล้ว เป็นเสียงของคนมีอำนาจในรัฐบาล และ คสช.ที่ไม่พอใจการเสนอข่าวการตรวจสอบรัฐบาลของสื่อบางาสำนักที่รับเงินอุดหนุนระยะยาวจาก สสส.จึงหาเรื่อง สสส.
โดยภาพรวมแล้ว การมีองค์กรอย่าง สสส.เป็นสิ่งที่ดี เป็นนวตกรรมทางสังคม ผลงานของ สสส.ที่ปรากฎในเรื่องการรณรงค์ต่อต้านเหล้า บุหรี่ หรือการส่งเสริมให้คนออกกำลังกาย ถือว่ามีประโยชน์ แม้จะมีข้อท้วงติงว่า ได้รับความสำเร็จในแง่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ แต่ไม่สำเร็จในด้านเป้าหมายที่ต้องการ
อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหา เสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สสส.ในเรื่องการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ผลประโยชน์ทับซ้อน การวัดความสำเร็จของโครงการที่รัยบเงินอุดหนุน เป็นสิ่งที่ สสส.ต้องรับฟัง รับผิดชอบ และแก้ไข ไม่ใช่ใช้วิธีเลี่ยงบาลี หยิบยกคุณงามความดีของ สสส.มาป้องกันตัวเอง แต่ไม่เคยชี้แจงข้อกล่าวหาอย่างตรงไปตรงมา
รายงานของ สตง.เรื่องการประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน ปี 2557 ของ กองทุน สสส.ที่ สตง.ส่งถีงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 ระบุว่า การบริหารงานที่ผ่านมายังไม่บรรลุผลตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งและเป้าหมายตามแผน มีความไม่โปร่งใส ในการดำนเนงาน และขาดการรายงานและติดตามผลของโครงการที่ได้เงินสนับสุน
สตง.ไม่ได้อ้างลอยๆ แต่มีรายละเอียดเป็นรูปธรรมในทุกเรื่องที่เป็นข้อสรุปว่า เป็นข้อบกพร่องของ สสส. ที่ผานมา สสส.มักจะอ้างว่า การบริหารของกองทุน สสส.มีการตรวจสอบทุกปีโดย สตง.สิ่งใดที่ สตง.ท้วงติงว่าไม่ถูกต้อง ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้ว แต่รายงานของ สตง.ที่ส่งถึงนายกรัฐมนตรีฉบับนี้ เป็นข้อกล่าวหารุนแรงที่ สสส.ควรจะชี้แจง