xs
xsm
sm
md
lg

หนุนปฏิรูปโครงการ30บาท ก่อนบานปลายทั้งระบบ เสนอร่วมจ่ายก่อนป่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ราชบัณฑิตด้านการแพทย์ ชี้ไม่มีใครอยากให้เลิก แต่ 30 บาท กำลังก่อให้เกิดปัญหาทั้งงบฯและสาธารณสุข ด้านรักษาการเลขาฯ สปสช. ชี้ต้องหาเงินเพิ่ม สร้างความยั่งยืนบัตรทอง เสนอร่วมจ่ายก่อนป่วย "สุริยะใส" จี้ กรธ.เด็ดขาดยกเลิกนโยบายประชานิยม ห่วงพวกอ้างคนจนเอาไปบิดเบือน หวังผลการเมืองเหมือนโครงการจำนำข้าว

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชบัณฑิต ประเภทวิชาแพทยศาสตร์และทันตแพทยศาสตร์ สาชาวิชากุมารเวชศาสตร์ สำนักวิทยาศาสตร์ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก @Yong Poovorawan ในหัวข้อ “30 บาทรักษาทุกโรค (อ่านให้จบด้วยก่อน comment)” แสดงทัศนะต่อ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งกำลังตกเป็นประเด็นที่สนใจของสังคม โดยระบุว่า ไม่มีใครจะให้เลิกนโยบายนี้ แต่ต้องยอมรับก่อนว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ก่อให้เกิดปัญหาของการล้มละลายของระบบงบประมาณ และการสาธารณสุข

“หลายคนคงไม่เข้าใจ ไม่มีใครจะให้เลิก 30 บาท ทุกคนต้องยอมรับปัญหา 30 บาท ลดการล้มละลายของผู้ป่วย แต่กำลังจะล้มละลายของระบบ ญี่ปุ่น เคยทำ ล้มไปแล้ว อังกฤษ ต้องปิดหน่วยจำนวนมาก ทั้งที่การเก็บภาษี ดีกว่าไทยมาก คงจะต้องพบกันครึ่งทาง การร่วมจ่ายตามกำลัง จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม … ขอให้ช่วยกันพิจารณาอย่างมีปัญญา ของฟรีไม่มีในโลก ทุกคนไม่ควรแบมือ เพื่อให้ได้มาซึ่งของฟรีเท่านั้น การดูแลสุขภาพให้ได้มาตรฐานจะมีราคาสูงขึ้น เป็นแบบ Exponential แต่เราเพิ่มงบ 30 บาท แบบ Linear นักวิชาการ NGO ทั้งหลาย ขอให้ตระหนักถึงผลในอนาคตด้วย การร่วมจ่ายตามกำลัง จึงเป็นวิธีที่จะลดการล้มละลายของระบบลงได้ และจะทำให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพ แบบ อารยะประเทศ ไม่ให้ถดถอย”ศ.นพ.ยง ระบุ

** เสนอมาตรการร่วมจ่ายก่อนป่วย

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าว ว่า บัตรทองได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ว่าทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการ โดยไม่เป็นภาระกับงบประมาณมากเกินไป แต่ที่ผ่านมากองทุนบัตรทองโตขึ้นจริง แต่ไม่ใช่ 16-17% ของงบประมาณประเทศ ความจริง คือ 5% เท่านั้น แต่ตัวเลข 16-17% เป็นตัวเลขงบประมาณด้านสุขภาพของทุกกองทุน โดยงบของบัตรทอง ปีนี้อยู่ 1.4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือนของบุคลากร ในโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข 4 หมื่นล้านบาท เหลือซื้อบริการจริงๆ 1.1 แสนล้านบาท

ที่ผ่านมามีมีนักวิชาการทั้งภายในและภายนอก สปสช.ได้ร่วมกันศึกษาหาวิธีการเพิ่มงบประมาณเข้ามาในระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า ระยะยาวต้องมีส่วนร่วมจ่าย แต่วิธีการอาจจะเป็นการร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วยเข้ารับการรักษา เช่น เก็บเงินสมทบคล้ายกับกองทุนประกันสังคม ส่วนอัตราจะอยู่ที่เท่าไรนั้น ต้องขึ้นอยู่กับการคำณวนทางคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือการเก็บภาษีผู้บริโภค ภาษีการทำธุรกรรมทางการเงิน ภาษีน้ำมัน แต่ต้องระบุว่าสำหรับกองทุนบัตรทอง คือให้เป็นภาษีสำหรับกองทุนเฉพาะ (Earmarked Tax) ตรงนี้ยังต้องศึกษาเพราะมีผลกระทบกับแต่ละกลุ่มคนแตกต่างกัน

"ถ้าหากจำเป็นต้องร่วมจ่าย ณ จุดบริการ หรือหลังเจ็บป่วย ซึ่งเดิมเก็บ 30 บาท ถ้าจะทำต้องไม่เป็นอุปสรรคกับคนกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะคนรายได้น้อยเข้าไม่ถึงบริการ หรือเกิดความรู้สึกว่าถูกแบ่งชั้น ดังนั้น อาจจะให้มีการร่วมจ่ายกรณีที่ต้องการบริการที่มากกว่ามาตรฐาน เช่น ค่าห้องพิเศษ ค่าบุคลากรพิเศษ เป็นต้น ดังนั้น โดยสรุปคือต้องมีการหาแหล่งงบประมาณจากหลายแหล่งมาเพิ่มเติมเพื่อให้ระบบยั่งยืน ส่วนแนวทางขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการจัดทำแนวทางการระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และนโยบายของรัฐบาล" นพ.ประทีป กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการร่วมจ่ายจำนวนมาก มีการแสดงความเห็นว่าต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ควรเพิ่มภาระให้ประชาชนในการร่วมจ่าย นพ.ประทีป กล่าวว่า ความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพในการลดเจ็บป่วย เพื่อลดค่าใช้จ่ายเป็นหน้าที่ของทุกคน ส่วนภาระการจัดบริการสาธารณะเป็นหน้าที่ของรัฐ รัฐต้องหาวิธีการต่างๆ มาสนับสนุนบริการ ทั้งหมดก็คือเงินที่มาจากประชาชน แต่รัฐจะใช้ชื่อ หรือวิธีการเก็บอย่างไรเท่านั้นเอง

** หนุนปฏิรูประบบประกันสุขภาพ


นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่รัฐบาลจะหยิบยกเรื่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่กำลังเป็นปัญหาเพราะงบประมาณไม่พอสนับสนุนโครงการในระยะยาว มาพิจารณาปรับปรุงตั้งแต่ตอนนี้ เพราะอย่าลืมว่า เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุ รัฐยิ่งจะต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น เป็นเงาตามตัว

โครงการนี้เป็นประโยชน์มากกับคนจน แต่ในปัจจุบันก็ต้องยอมรับว่า ประสบปัญหาทั้งเรื่องงบประมาณที่ขาดแคลน และคุณภาพมาตรฐานในการรักษาพยาบาลตามโครงการนี้ ฉะนั้นรัฐบาลมาถูกทางแล้วที่นอกจากจะไม่ยกเลิกโครงการนี้ แล้วยังต้องหาแนวทางในการพัฒนา และยกระดับโครงการนี้จากหลักคิดประชานิยม ไปสู่รัฐสวัสดิการ ให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานเข้าถึงคนจน คนด้อยโอกาสทางสังคม และมีความยั่งยืนอย่างแท้จริง

การปฏิรูประบบประกันสุขภาพ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องวางยุทธศาสตร์ให้ชัด เพราะเรากำลังก้าวสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มตัว โดยปี 2568 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีคนสูงอายุกว่า 15 ล้านคน แต่ที่ผ่านมาภาครัฐปรับตัวในเรื่องนี้ค่อนข้างช้า และยังขาดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนรัฐบาลจึงต้องเร่งหารือ ภาคฝ่ายต่างๆ เพื่อรับมือกับปัญหานี้อย่างเท่าทันมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ในส่วนของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ก็ควรนำเรื่องนี้ไปบรรจุในรัฐธรรมนูญ หมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ โดยปิดช่องนโยบายประชานิยมแบบไร้ความรับผิดชอบอย่างเด็ดขาด และส่งเสริมเพิ่มแนวทางรัฐสวัสดิการมากขึ้น ซึ่งจะมีความเป็นธรรม และยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า

ทั้งนี้ ที่ตนเป็นห่วงคือ มีคนบางกลุ่มกำลังเอาเรื่องนี้ไปบิดเบือน หวังผลทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะคนยากคนจนเข้าใจผิด กระทั่งเอาไปเปรียบเทียบว่า โครงการ 30 บาทฯ กับโครงการรับจำนำข้าว เป็นเรื่องเดียวกันที่คนจนได้ประโยชน์ แต่ไม่พูดถึง และไม่ยอมรับความจริงว่า โครงการจำนำข้าวหาประโยชน์จากชาวนาอย่างไร และมีการทุจริตมโหฬารแค่ไหน การเอาเรื่องความยากจน และเรื่องสุขภาพ มาเล่นการเมืองเป็นเรื่องที่ต้องประณาม

"นักการเมืองบางจำพวกชอบอ้างคนจน แต่ในยามตัวเองมีอำนาจก็ไม่เห็นจะทำอะไรจริงจังเพื่อคนยากจน ที่สำคัญโครงการ 30 บาทฯ ก็ถูกปล่อยให้ไร้คุณภาพมานาน ถ้าจะปรับปรุงปฏิรูปกันอย่างจริงจัง เพื่อให้คนจนเข้าถึงอย่างมีคุณภาพ ถือเป็นเรื่องที่ดี "นายสุริยะใส กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น