โดย…สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์
การดื่มชานั้นมีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 2,000 ปี โดยเฉพาะแดนมังกรอย่าง “จีน” การดื่มชาถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งที่อยู่คู่กันมานาน ขณะที่อุปกรณ์และวิธีการดื่มชา ต่างก็ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ จนเข้าขั้นเป็นศิลปะชั้นครูที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ อนุรักษ์ ไปจนถึงการสะสม
สำหรับประเทศไทยเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่รู้จักและดื่มชากันมานานเช่นกัน แต่ในปัจจุบันคนส่วนมากยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการชงชาอยู่มาก เช่น ดื่มชาโดยมีการเติมสารให้ความหวานต่างๆ ทั้งที่ในแง่สุขภาพแล้วการดื่มชาที่ดีนั้น ควรดื่มตอนชงสดใหม่ๆ รสธรรมชาติ และไม่มีการเติมสารปรุงแต่งใดๆ
ขณะที่อุปกรณ์ในการชงชาก็ยังเรียกกันแบบผิดๆ อยู่มาก คือ “กาน้ำชา” ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว หากเป็นการชงชาเพื่อดื่มจริงๆ อุปกรณ์ในการชงชานั้นจะเรียกว่า “ปั้นชา” ต่างหาก
ภายในงานเสวนา “ปั้นชาจากดิน สู่อารยะ” จัดโดยศูนย์การค้าริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ร่วมกับสมาคมเผยแพร่และส่งเสริมศิลปวัตถุ นพ.วรวิทย์ วรภัทรากุล นักสะสมปั้นชาชื่อดัง ผู้เขียนหนังสือ “ปั้นอี๋ซิง จากจีนสู่สยาม” ได้ถ่ายทอดเรื่องราวของศิลปะชิ้นเอกนี้ให้ฟังว่า คนจีนมีการดื่มชามานานแล้ว แต่ในอดีตจะเป็นการต้มชา ซึ่งอุปกรณ์จะเรียกว่า “กาน้ำชา” โดยใส่น้ำ ใส่ใบชาแล้วนำไปต้มโดยตรง ทำให้เมื่อใช้ไปนานๆ กาน้ำชาอาจแตกได้ทุกเมื่อ จนกระทั่งเข้าสู่สมัยยุคต้นราชวงศ์หมิง หรือเมื่อประมาณ 500 ปีก่อนนั้น ได้มีการเปลี่ยนวัฒนธรรมการดื่มชา จากการต้มเข้าสู่วิถีแห่งการชง จึงมีอุปกรณ์เพิ่มเข้ามาคือ “ปั้นชา” เป็นอุปกรณ์ชงชา โดยนำใบชามาใส่ไว้ในปั้นชา แล้วเทน้ำร้อนลงไปเพื่อชงดื่ม มิได้นำตัวปั้นชาไปเจอกับความร้อนอย่างการต้มแบบ “กาน้ำชา” ทำให้ปั้นชานั้นมีการออกแบบให้สวยงามขึ้น อีกทั้งน้ำชาที่ได้จากการชงนั้นก็จะช่วยให้ปั้นชามีสีที่เข้มเงางามยิ่งขึ้น
นพ.วรวิทย์ อธิบายอีกว่า การชงชาสำหรับดื่มจริงๆ นั้น ต้องใช้ปั้นชาเท่านั้น ที่นิยมมากที่สุดคือ “ปั้นอี๋ซิง” เนื่องจากส่งผลต่อกลิ่นและรสชาติของชาด้วย โดย “ปั้นอี๋ซิง” คือ ปั้นชาที่ผลิตขึ้นที่เมืองอี๋ซิง มณฑลเจียงซู ในภาคตะวันออกของประเทศจีน โดยเมืองอี๋ซิงอยู่ห่างจากเมืองซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 190 กิโลเมตร เป็นปั้นชาจีนที่นิยมสะสมกันทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เนื่องจากเนื้อดิน “จื่อซา” ที่นำมาทำปั้นชานั้นมีความเฉพาะตัว และมีที่เมืองอี๋ซิงเพียงแห่งเดียว โดยคุณสมบัติของเนื้อดินจื่อซาที่อี๋ซิง เมื่อนำเข้าเตาเผาแล้วจะหดตัวน้อยมาก ช่างที่ชำนาญจึงสามารถทำให้ลิ้นของฝากับปากปั้นมีขนาดไล่เลี่ยกัน ช่องว่างระหว่างลิ้นกับปากจึงน้อยมาก อากาศเข้าไปในปั้นได้ยาก การเติมออกซิเจนจากอากาศลงไปในน้ำชาจะเกิดได้น้อย จึงไม่ค่อยเกิดปฏิกิริยาที่ทำให้รสชาติของน้ำชาเสียไป
“นอกจากนี้ เมื่อเผาแล้วจะเกิดฟองอากาศเป็นรูพรุนเล็กๆ อยู่ในเนื้อดิน รูพรุนเหล่านี้จะเป็นฉนวนช่วยรักษาอุณหภูมิของน้ำ และเก็บกลิ่นของชาไว้เป็นอย่างดี เมื่อชงชาด้วยปั้นอี๋ซิงจะสามารถเก็บความร้อน รักษาสี รส และกลิ่นของน้ำชาไว้ และเมื่อชงแต่ละครั้ง รูพรุนที่ผนังของปั้นจะค่อยๆ เก็บสี รส และกลิ่นของชาไว้ เมื่อใช้ไปนานๆ ผนังของปั้นก็จะสะสมสารสกัดจากใบชามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมื่อเติมน้ำเดือดลงไปเปล่าๆ ก็จะได้น้ำชาที่มีสี รส และกลิ่นของชาโดยไม่ต้องใส่ใบชา”
สำหรับส่วนประกอบของปั้นชานั้น แบ่งเป็น ฝาปั้น ประกอบด้วย รูอากาศ ดุม ตัวฝา และลิ้น ส่วนตัวปั้น ประกอบด้วย ปากปั้น หลัก คอ/บ่า ลำตัว พวย ปากพวย ก้น และใต้ก้น แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ 1.ปั้นสาย คือ ปั้นที่มีหูจับด้านบน 2.ปั้นหู คือปั้นที่มีหูจับอยู่ด้านข้าง 3.ปั้นด้าม คือปั้นที่มีที่จับเป็นด้าม และ 4.ปั้นตลก คือปั้นที่ทำขึ้นโดยไม่มีรูปแบบตายตัว มักเอาสิ่งที่อยู่ในธรรมชาติมาเป็นแบบ
ส่วนรูปทรงของปั้นชา แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ ปั้นทรงเรขาคณิต ได้แก่ ทรงกระบอก ทรงกรวยตัด ทรงกลม ทรงเหลี่ยม ปั้นทรงเรขาคณิตที่ดัดแปลงมาจากทรงธรรมชาติ เช่น กลีบดอกไม้ และปั้นทรงเลียนแบบธรรมชาติ เช่น ทรงต้นสน ทรงท่อนไผ่ ทรงดอกเหมย เป็นต้น
สำหรับการเข้ามาของปั้นชาในประเทศไทยนั้น นพ.วรวิทย์ เล่าว่า เกิดจากการที่ส่งจิ้มก้องหรือเครื่องบรรณาการไปยังจีนแล้วได้รับเอาปั้นชากลับเข้ามาพร้อมกับผ้าไหม เครื่องกระเบื้อง เครื่องลายคราม โดยไทยรับเครื่องปั้นชาเข้ามาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ซึ่งในภายหลังได้รับความนิยมมาก จนถึงขั้นมีการออกแบบปั้นชาแล้วส่งไปให้จีนทำ เรียกว่า “ปั้นจีนสยาม” ซึ่งเป็นปั้นที่ผลิตจากจีน แต่มีลักษณะบางอย่างที่แสดงให้เห็นว่าคนไทยเป็นคนออกแบบ สั่งทำ หรือเป็นแบบที่จีนตั้งใจทำเพื่อส่งมาขายไทยโดยเฉพาะ ที่พบมากคือ ปั้นกงเก็ก และปั้นลี่ซิง
“ปั้นของเก่ากว่า 60-70% จะเป็นปั้นกงเก็ก ซึ่ง กงเก็ก แปลว่ากรมบรรณาการ ซึ่งในอดีตไทยค้าขายกับจีนจะทราบดีถึงคำว่าจิ้มก้องหรือการถวายบรรณาการนั่นเอง สำหรับปั้นจีนสยามทที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยมี 4 ประการคือ 1.รูปทรง เช่น ทรงลูกแก้ว ทรงเท้าปุ้มคอหม้อ ทรงก้นช้อยคอช้อย ทรงตะพาบ ทรงหอยสังข์ 2.ตราประทับ เช่น ตราหนูกับตัวอักษร ศก ๑๑๐ ตราธรรมจักร ตรายันต์ตรีนิสิงเห ตราแผ่นดินสมัยรัชกาลที่ 5 3.ปั้นขนาดจิ๋ว หรือปั้นเจ้าฟ้า และ 4.การตกแต่งปั้นของช่างไทย คือ ปั้นที่เมื่อมาถึงไทยแล้วได้รับการขัดผิว การเลี่ยมขอบด้วยโลหะ และการทำสายโลหะสำหรับหิ้ว”
นพ.วรวิทย์ กล่าวว่า ปั้นชาถือเป็นศิลปะที่แสดงถึงวัฒนธรรมการดื่มชา มีราคาแพง ยิ่งเป็นผลงานของช่างปั้นที่มีชื่อเสียง เช่น กู่จิ้งโจว ราคาแพงที่สุดคือประมาณ 400 ล้านบาท แม้ตัวปั้นชาจะมีอายุเพียงประมาณ 50-60 ปีเท่านั้น ที่น่าห่วงคือประเทศไทยมีปั้นชาจำนวนมาก แต่คนไทยไม่ทราบถึงคุณค่าของมัน และขายให้ชาวต่างชาติในราคาถูก
สำหรับการชงชานั้น ขั้นตอนหลักๆคือ น้ำต้องสะอาด ต้มจนเดือด มีการล้างฝุ่นให้ใบชาก่อนครั้งหนึ่ง แล้วเทน้ำออกจะช่วยให้ใบชาตื่นตัว จากนั้นจึงชงชาตามปกติ ซึ่งชาแต่ละชนิดจะมีการชงที่แตกต่างกันไป ซึ่งใบชาจะชงได้กี่ครั้งนั้นต้องพิจารณาจากชนิดของใบชา คุณภาพของใบชา เกรดของใบชา อายุ รวมถึงส่วนของใบชาด้วย โดยชาขาว ชาเขียว ชงได้ 2-3 น้ำ ชาอู่หลง ได้ 4-5 น้ำ ส่วนชาผู่เอ๋อร์ หากคุณภาพดีอาจชงได้มากถึง 20 น้ำ
“ปั้นชา” จึงไม่ใช่อุปกรณ์ที่ไว้ใช้แต่เพียงชงชาเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องหมายของวัฒนธรรมการชงชาที่มีการพัฒนา มีการคิด ออกแบบ สร้างสรรค์อย่างประณีตและมีสุนทรียภาพ จนนับเป็นศิลปะวัตถุอย่างหนึ่งที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ไว้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่