ASTVผู้จัดการ - การประกาศยุทธศาสตร์ "เส้นทางสายไหมทางทะเล" ของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง เมื่อปีที่ผ่านมา ได้สร้างความตื่นตัวต่อประชาคมอาเซียนในหลายมิติ ตั้งแต่ เศรษฐกิจ การเมือง ตลอดจนประวัติศาสตร์ ซึ่งรายงานสัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 4 ภายใต้หัวข้อเรื่อง “จีน - อาเซียนสร้างประชาคมร่วมกัน ในศตวรรษที่ 21” ในตอนที่ 3 นี้ เป็นกรณีศึกษาวิจัยของ ดร. ปิยะมาศ สรรพวีรวงศ์ ผู้ศึกษาประวัติเส้นทางสายไหมทางทะเลจีน-ไทย จากงานวิจัยของเฉินเหยียน ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง
ดร. ปิยะมาศ สรรพวีรวงศ์ ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติเส้นทางสายไหมทางทะเลจีน-ไทย จากงานวิจัยของเฉินเหยียน ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กล่าวว่า เฉินเหยียน เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาและประวัติศาสตร์เมียนมาร์รวมถึงประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มานานกว่า 7 ทศวรรษ และได้เสนอทฤษฎีเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 งานศึกษาของเฉินเหยียน เป็นการเติมเต็มช่องว่างในองค์ความรู้ด้านอารยธรรมจีนตลอดจนอารยธรรมโลก เห็นได้จากการที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้กำหนดให้ "เส้นทางสายไหมทางทะเล" เป็นหัวข้อหนึ่งในสามหัวข้อวิจัยสำคัญเรื่องอารยธรรมโลกโบราณเมื่อทศวรรษที่ 1990
จากมุมมองประวัติศาสตร์นั้น "เส้นทางสายไหมทางทะเล" ในนิยามความหมายกว้าง หมายถึง เส้นทางการติดต่อการค้าและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมบนเส้นทางจากจีน-เอเชีย-ยุโรป จรดทวีปแอฟริกาหนือ-ใต้ เริ่มมาตั้งแต่ยุคต้นราชวงศ์ฮั่น ซึ่งจีนเปิดเส้นทางเดินเรือสู่อินเดีย ต่อมาภายหลังในยุคราชวงศ์ซ่ง ภาคใต้ของจีนพัฒนาอย่างรวดเร็วและทำให้ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจเคลื่อนสู่ทางใต้ เส้นทางทะเลซึ่งเชื่อมโยงจากเมืองกว่างโจว เฉวียนโจว และหังโจว ยิ่งพัฒนาและรุ่งเรืองมากขึ้น การเดินทางโพ้นทะเลขยายขอบเขตจากทะเลใต้ที่จีนเรียกว่า "หนานหยาง" สู่ทะเลอาหรับไปไกลถึงฝั่งทะเลตะวันตกของทวีปแอฟริกา
กรณีศึกษางานวิจัยของเฉินเหยียนครั้งนี้ ดร. ปิยะมาศ ได้อ้างอิงหนังสือชุด "ประชุมบทความของเฉินเหยียน" (ตีพิมพ์ ปี ค.ศ. 2006 ในวาระฉลองอายุ 90 ปีของ ศ.เฉินเหยียน) ซึ่งรวมบทความที่เขาค้นคว้าศึกษาและกำหนดทฤษฎีเส้นทางสายไหมทั้งทางบกและทางทะเลอย่างต่อเนื่องมาตลอดวิชาชีพฯ โดยเฉินเหยียนเริ่มต้นบทความในนิตยสาร China Weekly Review ปีค.ศ. 1947 ด้วยการกล่าวถึงความสำคัญของการศึกษาภาษาตะวันออกเฉียงใต้ว่า เป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมโยงความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างจีนกับประเทศเหล่านี้ ทั้งยังกล่าวถึงบทบาทของจีนในการเข้ามายังภูมิภาคนี้ว่า หาใช่การแสวงหากำไรทางการค้า หรือประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และหาใช่การเข้ามาพร้อมเลือดและน้ำตา หากเป็นการเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์ทางวัฒนธรรมเพื่อจะเชื่อมโยงประชาชาติในภูมิภาคตะวันออกในแง่ของวิถีชีวิตมากกว่าวัตถุประสงค์แบบทุนนิยม
ดร.ปิยะมาศ สรรพวีรวงศ์ ได้กล่าวถึงบทความที่ว่าด้วยประวัติความสัมพันธ์จีน-ไทย บนเส้นทางสายไหมทางทะเล ที่สะท้อนทัศนะดังกล่าวของเฉินเหยียน ได้แก่ บทความเรื่องสถานะของแว่นแคว้นโบราณในเขตแดนประเทศไทยและอ่าวไทย บนเส้นทางการสัญจรทางทะเล ก่อนศตวรรษที่ 6, ประวัติศาสตร์การติดต่อทางทะเลและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย และบทความเรื่อง สัมพันธไมตรีและการติดต่อการค้าจีน-ไทย ในช่วงราชวงศ์หยวน หมิง และชิง
ในบทความเรื่อง "สถานะของแว่นแคว้นโบราณในเขตแดนประเทศไทยและอ่าวไทย" นั้น เฉินเหยียน เสนอข้อมูลแว่นแคว้นโบราณที่นักวิชาการสันนิษฐานว่าอยู่บนดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน โดยอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารประวัติศาสตร์ภาษาจีนของราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ. - ค.ศ.220) และสมัยสามก๊ก (ค.ศ.220 - ค.ศ. 280) ตามบันทึกในหมวดภูมิศาสตร์ของ "พงศาวดารฮั่นซู" ระบุว่า ในช่วงรัชกาลจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (140 - 87 ปีก่อนค.ศ.) เรือราชทูตของราชวงศ์ฮั่น ล่องจากดินแดนใต้สุดของจีนที่คาบสมุทรเหลยโจว นำสินค้ามีค่า เช่น ทองคำกับผ้าไหม ไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าประจำถิ่นของแต่ละแว่นแคว้นทางใต้ อันมีอาทิ ไข่มุก ลูกปัดแก้ว และของแปลกต่างๆ โดยเป็นการล่องเรือเลียบชายฝั่งทะเลไปจนถึงดินแดนที่จีนเรียกว่า 'อี่เฉิงปู้กั๋ว' (ปัจจุบันคือ ศรีลังกา) แล้วจึงล่องเรือกลับ ซึ่งระหว่างทางก็ผ่านแว่นแคว้นต่างๆ ที่นักวิชาการศึกษามีความเห็นหลากหลาย บ้างว่าเป็นเมืองในประเทศเวียดนาม บ้างว่าเป็นจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย บริเวณลพบุรี ราชบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ถึงนครศรีธรรมราชและปัตตานี อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นพื้นที่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทย
เฉินเหยียนนำเสนอบทความ "ประวัติศาสตร์การติดต่อทางทะเลและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีน-ไทย" ว่ามีความเป็นมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น สมัยสามก๊ก ราชวงศ์เหนือใต้ ราชวงศ์สุยและถัง ซึ่งกล่าวถึงการติดต่อทางการทูต การค้า บรรณาการ และความสำคัญด้านศูนย์กลางพุทธศาสนาของอาณาจักรโบราณเช่นทวาราวดี ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนกับอาณาจักรละโว้ ในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน ตลอดถึงสัมพันธภาพด้านต่างๆ ระหว่างจีนกับสยาม ที่จีนเรียกว่า "เซียนหลัว" ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง
การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศนี้ จำแนกออกเป็นด้านต่างๆ อาทิ วัฒนธรรมสำริด ปฏิทินโบราณ ภาษาและอักขระ วรรณกรรม และวัฒนธรรมทางวัตถุอื่นๆ เช่น ผ้าไหม เครื่องกระเบื้อง เป็นต้น สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแลกเปลี่ยนด้านวรรณกรรม กับไทย ซึ่งพบเห็นได้น้อยมากในประวัติความสัมพันธ์ของจีนกับประเทศอื่นๆ โดยกล่าวว่าชาวจีนในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญฯ
ในบทความ "สัมพันธไมตรีและการติดต่อการค้าจีน-ไทย ในช่วงราชวงศ์หยวน หมิง และชิง" เฉินเหยียน กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-ไทย ในรูปแบบการค้าบรรณาการ เพิ่มความถี่มากขึ้นในยุคราชวงศ์หยวน หมิง และชิง ซึ่งเป็นสามราชวงศ์สุดท้ายของจีน โดยสรุปลักษณะความสัมพันธ์ในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ว่า สมัยราชวงศ์หมิงเป็นยุครุ่งเรืองของการค้าบรรณาการ ส่วนสมัยราชวงศ์ชิงเป็นยุคทองของการค้าภาคประชาชน
ดร. ปิยะมาศ สรรพวีรวงศ์ ผู้ศึกษางานวิจัยของเฉินเหยียน กล่าวว่า การศึกษาเรื่องความสัมพันธ์จีน-ไทย บนเส้นทางสายไหมทางทะเลของเฉินเหยียน เป็นการศึกษาค้นคว้าบนพื้นฐานข้อมูลปฐมภูมิ ผ่านการสังเคราะห์และวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ แม้จะมีจำนวนไม่มากแต่นับว่ามีคุณูปการยิ่ง โดยเฉพาะต่อการศึกษาประวัติศาสตร์ฯ ซึ่งคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีน และภูมิภาคในอนาคตอันใกล้จะเป็นดังที่ศาสตราจารย์เฉินเหยียน ได้เคยคาดการณ์ไว้ ในบทความชิ้นแรกๆ ของเขาเมื่อปี ค.ศ. 1947 หรือเกือบ 7 ทศวรรษที่แล้ว
......................
(ภาพซ้าย - ดร. ปิยะมาศ สรรพวีรวงศ์ ภาควิชาภาษาจีน คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติเส้นทางสายไหมทางทะเลจีน-ไทย จากงานวิจัยของเฉินเหยียน ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาตะวันออกศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง)
หมายเหตุ - สัมมนาวิจัยยุทธศาสตร์ไทย - จีน ครั้งที่ 4” (The 4th Thai - Chinese Strategic Research Seminar) ระหว่างวันที่ 25 - 29 กรกฎาคม 2558 ณ เมืองเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน สาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้หัวข้อเรื่อง “จีน - อาเซียนสร้างประชาคมร่วมกัน ในศตวรรษที่ 21” จัดร่วมกันโดยศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน แห่งสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยหัวเฉียว สาธารณรัฐประชาชนจีน (Huaqiao University,HQU) สถาบัน China Society for Southeast Asian Studies และ สมาคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจไทย-จีน