xs
xsm
sm
md
lg

สายธารประวัติศาสตร์ ไทย จีน ตอนที่ 3 (จบ) หลังยุคจิ้มก้อง สัมพันธ์ไทย-จีน ไม่เคยเสื่อมคลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558
ความสัมพันธ์ไทย-จีน เป็นความสัมพันธ์ที่ดีงาม จนกระทั่งฝรั่งเข้ามายังสยาม เซอร์จอห์น บราว์ริง เข้ามาก็ตั้งคำถามว่าการส่งจิ้มก้องหมายถึงสถานภาพที่ด้อยกว่า ในที่สุดรัชกาลที่ 5 ก็เลิกการส่งจิ้มก้อง แม้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอ่อนลง ความสัมพันธ์ในภาคเอกชนไทย-จีนก็ยังคงดำเนินไปอย่างไม่ขาดสาย

พระราชดำรัสรัชกาลที่ 5 “คนจีนเป็นพลเมืองสยาม”
ปัจจัยสำคัญที่คนมักมองข้ามไปคือ สิทธิสภาพนอกอาณาเขต เมื่อไทยเซ็นสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับกลุ่มประเทศมหาอำนาจ ที่ระบุให้การคุ้มครองชาวต่างชาติในเมืองไทย เช่นเมื่อเกิดข้อพิพาทกับพวกฝรั่ง ต้องไปขึ้นศาลก็ไม่ได้ขึ้นศาลไทย คนไทยเสียเปรียบ

ในส่วนของคนจีนนั้นก็ต้องการอยู่ในดินแดนที่มีการปกครองโดยกฎหมาย เมื่อเห็นชาวจีนในปกครองต่างชาติได้ผลประโยชน์จากอภิสิทธิสิทธิสภาพนอกอาณาเขต ก็แห่แหนขอจดทะเบียนเป็นคนในบังคับชาติมหาอำนาจ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส

ปัญหาของฝ่ายไทย ก็คือรัชกาลที่ 5 ทรงกังวลว่าถ้าสยามเซ็นข้อตกลงความสัมพันธ์ทางการทูตแบบฝรั่งกับคนจีน และรัฐบาลจีนมาอ้างว่าคนจีนเป็นคนในปกครองต่างชาติ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่หลวงของประเทศ เนื่องจากในสยามมีคนจีนเป็นล้านๆคน ขณะที่ฝรั่งเศสมีไม่กี่สิบคน คนอังกฤษไม่กี่สิบคน เมื่อเกิดปัญหาก็ไม่รุนแรงนัก เพราะฉะนั้นเมื่อราชสำนักชิงส่งทูตมาขอเซ็นสัญญาความสัมพันธ์แบบอังกฤษหรือญี่ปุ่น สยามก็พยายามหลีกเลี่ยงมาตลอด เมื่อมีการประชุมภายในกัน ก็จะยืนยันไปว่าคนจีนในไทยเป็นจีนในปกครองของไทย ใช้กฎหมายแห่งราชอาณาจักรสยามในการตัดสินคดีความ

รัชกาลที่ 5 ทรงระบุว่าคนจีนเป็น “พลเมืองสยาม” และตรัสแก่ตัวแทนรัฐบาลจีนที่เข้ามาเจรจาเจริญสัมพันธ์ไมตรีไปว่า “เราดูแลจีนในปกครองของเรา เสมือนหนึ่งประชากรของเราเอง”

ดังนั้น ตลอดรัชกาลที่ 5 จึงไม่มีการเซ็นสัญญาความสัมพันธ์กับจีน จนสามารถแก้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับชาติมหาอำนาจให้เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่เท่าเทียม แต่ตอนนั้นก็เป็นช่วงราชวงศ์ชิงล่มสลาย ภายในจีนมีปัญหามากมาย เมื่อจีนหันไปเชื่อระบอบสาธารณรัฐ ก็ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะทางสยามต้องการให้คนจีนในไทยเป็นไทย ไม่ต้องการให้คนจีนเชื่อแนวคิดแบบรีพับลิกัน ความขัดแย้งด้านแนวคิดทางการเมืองในกลุ่มคนจีนในสยาม ทำให้การสถาปนาความสัมพันธ์กับจีนอย่างเป็นทางการ ถูกเลื่อนออกไปอีก

แต่นโยบายสยามไม่เคยกีดกันชาวจีนเลย คนจีนเข้ามาสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การส่งออก ตัวอย่างเช่น น้ำตาลสยามสร้างโดยชาวจีน เมื่อราคาน้ำตาลในตลาดโลกสูง รัชกาลที่ 3 ก็ให้จีนมาเพาะปลูกทำไร่อ้อย ทำน้ำตาลเพื่อส่งออก ภาคประชาชนก็เข้ามาเป็นกรรมกร แต่ไม่ใช่กรรมกรทั่วไป ระดับหลงจู้ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุน-เป็นหลวง ดังนั้น ชาวจีนจึงเป็นกำลังขับเคลื่อนประเทศไทยทั้งบน-ล่าง พระบรมราโชบายของมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทั้งหมด เป็นส่วนหนึ่งทำให้คนจีนในสยามเฟื่องฟู ถ้าอยู่บ้านเกิดในจีนก็ไม่มีโอกาสสร้างเนื้อสร้างตัว ได้ดีเช่นนี้ โดยมีเงื่อนไขของทั้งสองฝ่ายมีส่วนผลักดันซึ่งกันและกัน

คนจีนที่เข้ามาช่วงรัชกาลที่ 5 ไปจนถึงรัชกาลที่ 8 มีลักษณะแตกต่างไปเล็กน้อย โดยสมัยก่อนคนจีนมากับการค้า เป็นพ่อค้า กลุ่มคนจีนที่ติดตามสำเภา ไปถึงกลุ่มจีนที่ทำงานเทคนิกในสำเภา กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้ เมื่อมาถึงก็จะตั้งรกราก ขยายกิจการการค้า แม้กลุ่มพ่อค้าที่ไม่คิดตั้งรกราก ก็ต้องเอาพี่น้องญาติมาอยู่ที่นี่เพื่อเป็นสถานีการค้าโดยเฉพาะกลุ่มค้าข้าว มีการตั้งสถานีการค้าในแต่ละประเทศ ถือเป็นการขยายเครือข่ายการค้า มีการแต่งงานกับคนท้องถิ่น

ในยุคต่อมา คือช่วงหลังสงครามฝิ่นคนจีนจะมาเป็นแรงงานรับจ้าง เพื่อที่จะสะสมทุน แล้วกลับจีน ส่วนใหญ่ไม่คิดมาตั้งรกราก แต่สยามก็ยอมรับได้ ช่วงนั้นมีการสร้างเส้นทางรถไฟ การก่อสร้างในภาคคมนาคม และอาคารต่างๆ ซึ่งมาจากแรงงานคนจีนทั้งหมด มีบันทึกระบุคนจีนที่มีทำงานเหล่านี้ กลับประเทศจีน 50 เปอร์เซ็นต์

มาถึง ในรัชกาลที่ 6 ส่วนหนึ่งที่สยามยังไม่ได้กลับไปมีความสัมพันธ์กับจีน เป็นเพราะว่าหนึ่งความสัมพันธ์ในระบบเอกชนดีอยู่แล้ว ประการที่สอง รัชกาลที่ 6 กลัวแนวคิดรีพับลิกันอย่างมาก และต่อมาก็เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชกาลที่ 7

ข้อกังขาความภักดีของชาวจีน
ช่วงยุครัชกาลที่ 7 อาจเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการจำกัดจำนวนคนเข้าเมือง มีการเก็บค่าเข้าเมือง ผิดกับแต่ก่อนที่ไม่มีการจำกัดฯเลย ไม่มีใบต่างด้าว ในยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามนี้ ผู้ที่ต่อต้านจีนมากที่สุดคือคณะราษฎร์ มีการสร้างความเป็นชาตินิยม ซึ่งทำให้เกิดการกีดกันคนต่างเชื้อชาติ

สาเหตุที่คณะราษฎร์ต่อต้านจีน... ในฐานะผู้ปกครองประเทศไทย ปัญหาของชาวจีนคือไม่รู้ความจงรักของคนจีนอยู่ที่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่คณะราษฎร์กลัวมากเพราะจำนวนชาวจีนเป็นล้านคน อีกทั้งไม่มีเอกสาร ไม่มีพาสปอร์ต จึงค่อยๆมีการจัดระบบจำกัดการเข้าเมือง

นอกจากนี้ ยุคแรกๆที่คนจีนมาทำงานในสยาม ก็มีการส่งเงินกลับบ้านตามกำลังที่อยากส่ง ยังไม่มีปัญหาเท่าไหร่นัก เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกจีน ก็เกิดกระแสรักชาติรุนแรง มีการดูดทรัพยากรกลับคืนสู่บ้านอย่างรุนแรงตั้งแต่รัชกาลที่ 6 ถึงรัชกาลที่ 7 เป็นมูลค่าเกือบ 20 ล้านต่อปี ซึ่งสมัยนั้นถือว่าสูงมากๆ

รัฐบาลสยามก็รู้สึกว่าชาวจีนดูดทรัพย์ เอาผลประโยชน์ออกไปจากประเทศ เมื่อเกิดมุมมองเช่นนี้ขึ้นก็เกิดความรู้สึกกีดกัน คณะราษฎร์เริ่มตั้งกฎระเบียบ เพื่อไม่ให้มีการดูดทรัพยากรออกไป ด้านจีนก็แบ่งเป็นหลายฝ่ายมาก ผู้ปกครองสยามไม่รู้จะทำสัญญากับใคร จะทำสัญญากับเจียงไคเช็ค กับคอมมิวนิสต์ กับราชวงศ์ชิง เป็นช่วงที่สับสนมาก

“มีนักวิชาการจีนในประเทศไทยมองประวัติศาสตร์ช่วงนี้ว่า คนไทยเกลียดคนจีน สยามกีดกันจีน แต่ไม่มองว่าช่วงที่ซุนยัดเซ็นมาขอร้องให้ส่งเงินกลับ ก็มีการส่งเงินกลับไปมาก แล้วคนไทยรู้สึกยังไง ทำไมไม่มองในจุดนี้ล่ะ”

“ตลอดประวัติศาสตร์ไทย-จีน 600 ปี ช่วงนี้เป็นช่วงสั้นๆนี้ ที่เกิดคำถาม divided royalty ชัดเจน ความภักดีอยู่ที่ไหน อยู่ที่ประเทศแม่ที่ตัวเองทำเงิน หรือประเทศเกิดของพวกเขา”

ช่วงสมัยจอมพลป. ญี่ปุ่นบุกเอเชีย อยากขับไล่พวกฝรั่ง เช่น อังกฤษ ดัชต์ ออกไป ขณะที่สัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ดีมาตลอด

ราว ปี พ.ศ. 2471 มีการปราบปรามคอมมิวนิสต์ขนานใหญ่ในประเทศจีนโดยกลุ่มเจียงไคเช็ค ปัญญาชนจีนก็อพยพหนีมาไทย มีอาชีพครูสอนในโรงเรียนแถวภาคอีสาน กรุงเทพฯ มีการจัดตั้งเครือข่ายคอมมิวนิสต์ ด้านรัฐบาลไทยก็มองอย่างเป็นวิตกมาก จนมีการปิดโรงเรียนจีน ผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์คือโฮจิมิน แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะเป้าหมายไม่ชัดเจน ว่าต้องการปลดปล่อยจีน ปลดปล่อยเวียดนาม หรือปลดปล่อยสยาม

ต่อมาเกิดสงคราม สมัยจอมพลป. มีทั้งช่วงที่เกลียดจีน ช่วงที่ส่งลูกๆของสังข์ พัธโนทัยไปจีน

“รัฐบาลจีนตลอดทุกยุค ได้พยายามสร้างความสัมพันธ์กับสยามอย่างเป็นทางการ เป็นเวลาร้อยปีที่เราไม่มีสัมพันธภาพกับจีนด้วยเหตุผลต่างๆนานา เช่น รัชกาลที่ 5 ไม่อยากมีเพราะต่างด้าว ในรัชกาลที่ 6 กลัวคอมมิวนิสต์ ท่านผู้นำปรีดี พนมยงค์ ไม่อยากมี อยากเป็นไทยนิยม เปลี่ยนคนในประเทศเป็นไทยหมด”

เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามโลก รัฐบาลไทยซึ่งอยู่ข้างญี่ปุ่นก็วิตกกลัวจะตกอยู่ในฐานะอาชญากรสงคราม ขณะที่สาธารณรัฐจีนภายใต้การนำของเจียงไคเช็คชนะสงครามเป็นหนึ่งในชาติอำนาจ สยามจึงรีบส่งทูตไปยังจีน เจียงไคเช็คก็ส่งทูตมาทันที เซ็นสัญญาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการกับมรว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น มีการเปิดสถานทูตจีนในกรุงเทพฯ โดยนาย หลี่ เที่ยเจิ้ง(李铁铮)ได้รับการแต่งตั้งเป็นเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศสยามคนแรก เมื่อวันที่ 24 ก.ค. พ.ศ. 2489 ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน จึงไม่ใช่เพียง 40 ปี.

รวบรวมเรียบเรียงจากการบรรยายและให้สัมภาษณ์ระหว่างการแนะนำหนังสือ A History of The Thai-Chinese ของอาจารย์ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2558

คลิกอ่าน: สายธารประวัติศาสตร์ ไทย จีน ตอนที่ 1 จีน-อยุธยา

คลิกอ่าน: สายธารประวัติศาสตร์ ไทย จีน ตอนที่ 2 : บทบาทลูกจีนกู้ชาติแห่งกรุงธนบุรี และร่วมสร้างชาติช่วงต้นรัตนโกสินทร์
ภาพปก: ประวัติศาสตร์ไทย-จีน โดย เจฟฟรี่  ซุง และ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร

กำลังโหลดความคิดเห็น