ชนเชื้อสายจีน หรือ “ลูกจีน” ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาช้านานนับตั้งแต่สมัยอยุธยา จวบจนปัจจุบัน มองไปรอบๆ ทุกระดับชั้นสังคมทุกแวดวงทุกภาคเศรษฐกิจการค้า หรือแทบจะกล่าวได้ว่าทุกตรอกซอกซอยในประเทศไทย ล้วนประกอบด้วยกลุ่มเชื้อสายจีน ปรากฏการณ์เหล่านี้ดูกลายเป็นความชินตาและเคยชินในความรู้สึกของคนไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ไทย-จีนขึ้นมาคราใด จึงมักอ้างถึงคำกล่าวว่า “ไทย-จีน มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” โดยที่หลายๆคนก็ฟังกันจนชินหูไปเช่นกัน
ทว่า เมื่อหันมามองลึกลงไปแล้ว ปรากฏการณ์ในสังคมใด ย่อมมีรากเหง้า ที่ก่อเกิดของความผูกพัน ความเกี่ยวข้องกันระหว่างกลุ่มต่างๆอย่างกลุ่มเชื้อชาติไทย-จีนที่จะกล่าวในที่นี้ สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืนในชั่วกาลเพียงไม่กี่สิบปี ไทยกับจีนมีประวัติศาสตร์ร่วมกันที่เป็นมรดกตกทอดอยู่ในทั่วทุกด้านทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม วัฒนธรรม ผสานกลมกลืนกันดั่งสองสายน้ำไหลรินมาสบเป็นท้องธารเดียวกัน ณ แผ่นดินไทย
******
““สยามเป็นประเทศเดียวที่คนจีนเคยเป็นกษัตริย์ แต่ก็เป็นประเทศเดียวที่พวกเขาสูญเสียความเป็นจีน” ” คำกล่าวของสุลักษณ์ ศิวรักษ์
บุคคลที่ท่านอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ได้กล่าวอ้างถึงข้างต้นคือ พระยาตาก ผู้มีบิดาเป็นชาวจีน มารดาเป็นชาวไทย และได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์แห่งรัชสมัยกรุงธนบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2310 ช่วงยุคพระเจ้าตากสินนั้น เป็น “ศตวรรษแห่งจีน” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระหว่างศตวรรษที่ 18 จีนได้เข้ามามีบทบาทพัวพันและอิทธิพลในกิจการการเมืองในรัฐต่างๆย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงระดับขีดสุดอย่างมิเคยปรากฏมาก่อน ปรากฏการณ์กษัตริย์เชื้อสายจีนแห่งสยาม คือพระยาตากนั้น เป็นเครื่องสะท้อนอย่างดีถึงการเข้ามามีบทบาท หยั่งรากลึกในการเมืองของรัฐต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กรณีพระยาตาก หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น ทรงความสำคัญและลึกซึ้งที่สุด ทว่า ก็มิใช่ครั้งแรกที่ชนเชื้อสายจีนได้เข้ามามีบทบาทอำนาจในแวดวงอำนาจการเมืองสูงสุดของสยาม จากบันทึกของพ่อค้าชาวดัชต์ Jeremais van Vliet ระบุเมื่อปี พ.ศ. 2183 ว่าท้าวอู่ทอง ผู้สถาปนาอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ( พ.ศ.1894-2310) มาจากจีน ในยุคต่อมา กลุ่มเชื้อสายไทย-จีน ก็มีบทบาทในวงการเมืองระดับสูงของไทยจวบจนถึงช่วงประวัติศาสตร์สมัยใหม่ และมีบทบาทโดดเด่นในแวดวงอุตสาหกรรม ภาคการเงิน และภาคการค้า
บทบาทจีนในประเทศไทยมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว ลูกจีนเข้ามามีบทบาทอิทธิพลสูงถึงเพียงนี้ในประเทศที่พวกเขาอพยพเข้ามาตั้งรกรากได้อย่างไร ? รัฐ-ชาติทุกวันนี้ที่ประกอบด้วยหลายเชื้อชาตินั้น มิใช่เรื่องธรรมดาเลย...ที่ชนชาติส่วนน้อยจะขึ้นมาครองอำนาจและอิทธิพลสูงเช่นนี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร?
การเข้าใจปรากฏการณ์จีนในไทย จะต้องเข้าใจลักษณะเงื่อนไขทางการเมืองของสองชาติ ความใกล้ชิดทางภูมิรัฐศาสตร์ของสองดินแดน ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างจีนกับอาณาบริเวณ และที่มาที่ไปของการที่จีนได้แทรกซึมสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ข้อความห้าย่อหน้าข้างต้นนี้เป็นเนื้อหาบทเปิดของบทแรกใน A History of The Thai-Chinese, By Jerrery Sng And Pimpraphai Bisalputra เป็นคำอธิบายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และคำถามที่น่าสนใจกระตุกความใคร่รู้ของปรากฏการณ์ไทย-จีน ที่เชื่อมโยงไปถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคำตอบนั้นอยู่ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ ไทย-จีน” เล่มนี้
A History of The Thai-Chinese เขียนโดย Jerrery Sng And Pimpraphai Bisalputra นับเป็นแหล่งข้อมูลประวัติศาสตร์ไทย-จีน ชิ้นล่าสุด ที่เพิ่งเผยแพร่ในปีนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสารนับร้อยๆแหล่ง และบันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ไทย-จีน เล่มเขื่องนี้
เนื้อหาหนังสือ A History of The Thai-Chinese รวบรวมเหตุการณ์ประวัติศาสตร์สยาม-จีน กว่า 600 ปี จากสมัยกรุงศรีอยุธยา สู่ยุคกรุงธนบุรี สู่ยุครัตนโกสินทร์ตอนต้น และยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยในสยาม (2475) ถึงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ไทยและจีนได้เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตกันเป็นครั้งแรกระหว่างรัฐบาลเจียง ไคเช็ค และรัฐบาล มรว.เสนีย์ ปราโมช ในปี พ.ศ. 2489 โดยมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศสยามคนแรก และบทสุดท้ายเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-จีนในบริบทการเมืองโลกหลังยุคสงครามเย็นที่มหาอำนาจสหรัฐอเมริกาโดยผู้นำประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และสาธารณรัฐประชาชนจีนโดยผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ เหมา เจ๋อตง หันมาจับมือกัน ซึ่งส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั่วโลกอย่างทั่วถ้วนหน้า
เนื้อหาในแต่ละบทได้บรรยายเหตุการณ์ประวัติศาสตร์การเมืองภายในของทั้งสองประเทศไทยและจีน อันเป็นเหตุปัจจัยของการดำเนินความสัมพันธ์ฯ โดยมีใจกลางอยู่ที่ระบบส่งบรรณาการหรือจิ้มก้องไปถวายแด่พระเจ้ากรุงจีน และการค้าสำเภาที่ก่อให้เกิดการอพยพโยกย้ายถิ่นสู่ดินแดนต่างๆของชาวจีนจำนวนมหาศาลในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังได้รวบรวมข้อมูลสายตระกูลเชื้อสายจีน ที่มีบทบาทสำคัญและเป็นพลังขับเคลื่อนสยามจากยุคการค้าสำเภา เป็นการเผย “ใครเป็นใคร” ในปูมกลุ่มตระกูลเชื้อสายจีนอย่างครบครันและเจาะลึก
“ในการเขียนหนังสือ The History of Thai-Chinese เล่มนี้ แตกต่างจากเล่มอื่นๆ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการสร้างวีรบุรุษจากบุคคลคนเดียว จึงได้บันทึกบทบาทของคนจีนในการกอบกู้ชาติ นอกจากพระยาตากแล้ว จากพงศาวดารบางฉบับระบุกองทัพที่ไปตีค่ายโพธิ์สามต้น มีทัพจีนเป็นทัพหน้า โดยมีแม่ทัพลูกจีน คือ พระยาพิพิธ พระยาพิชัย นอกจากนี้เอกสารของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสก็ระบุว่าถ้าไม่ได้ความขยันและความมุ่งมั่นของลูกจีนแล้ว สยามก็จะกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่านี้ เอกสารไทยไม่เคยดูถูกคนจีนเลย” อาจารย์ พิมพ์ประไพ กล่าวในการให้สัมภาษณ์แนะนำหนังสือฯ
ข้อมูลหนังสือ
ชื่อหนังสือ A History of The Thai-Chinese
ผู้เขียน Jerrery Sng And Pimpraphai Bisalputra
สำนักพิมพ์ Editions Didier Millet
ฉบับภาษาอังกฤษ (ปกแข็ง)
พิมพ์ครั้งแรก 2558
จำนวนหน้า 447 หน้า
ราคา 1,295 บาท
ISBN 9789814385770
เกี่ยวกับผู้เขียน
เจฟฟรี่ ซุง (Jerrery Sng) และ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร (Pimpraphai Bisalputra) ได้อุทิศชีวิตในการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยและจีน สำหรับซุงได้ศึกษาด้านปรัชญาและวรรณกรรม ที่มหาวิทยาลัยสิงคโปร์ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อ ณ สถาบันศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา ซุงอาศัยในกรุงเทพฯเป็นเวลานานกว่า 30 ปี เขียนบทความเกี่ยวกับการอพยพโยกย้ายถิ่นของชาวจีน, ชุมชนธุรกิจจีน-ไทย, ศิลปะหัตกรรมจีน, ชุมชนชาวจีน, และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนี้
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร สำเร็จการศึกษา London School of Economics & Political Science และปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล มีผลงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องจีนฉบับภาษาไทย ได้แก่ สำเภาสยาม : ตำนานเจ๊กบางกอก (2544), นายแม่ (2546), ลูกจีนหลานมอญในกรุงสยาม (2547) และกระเบื้องถ้วย กะลาแตก (2550)
พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ผู้เป็นบุตรีของธะนิต พิศาลบุตร และประไพ (หวั่งหลี) พิศาลบุตร ได้ศึกษาค้นคว้าและเขียนงานประวัติศาสตร์ไทย-จีนจากจิตวิญญาณสายเลือด “ลูกจีน” ต้นตระกูลพิศาลบุตรคือ พระยาพิศาลศุภผล (ชื่น) ผู้นำเครื่องลายคราม ได้แก่ เครื่องกระเบื้องกังไสและปั้นชาจีนยี่ห้อโปจูลี่กี่ เข้ามาขายในกรุงสยามช่วงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ถึงปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (2370-2450) เป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการค้าสำเภาสมัยรัชกาลที่ 4
คุณ ธะนิต พิศาลบุตร เป็นนักสะสมเครื่องกระเบื้องถ้วยลายครามโบราณ กอปรด้วย สายสกุลมารดา “หวั่งหลี” ที่มีบทบาทโดดเด่นในการค้าสำเภาเช่นกัน ส่งให้พิมพ์ประไพมีต้นทุนด้านความรู้ข้อมูลชั้นหนึ่ง กอปรด้วยการค้นคว้าข้อมูลอย่างวิริยะอุตสาหะดังที่เห็นในรายชื่อเอกสารอ้างอิงในหนังสือ ตลอดจนพรสวรรค์ในการถ่ายทอดเล่าเรื่องราว ทำให้งานเขียนประวัติศาสตร์ของท่านมีอรรถรสมีเสน่ห์น่าอ่านยิ่ง