xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! เงินอุดหนุนพลังงานฟอสซิลสูงกว่างบสาธารณสุขของทั้งโลก…ผลการศึกษาของ IMF / ประสาท มีแต้ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 
คอลัมน์  :  โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท  มีแต้ม
 
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกรายงานเรื่อง เงินอุดหนุนพลังงานทั่วโลกมีมากขนาดไหน? (How Large Are Global Energy Subsidies?) ผมทราบเรื่องนี้จากการอ้างอิงของคุณ Damian Carrington หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมใน The Guardian หนังสือพิมพ์รายวันที่มีอายุเกือบ 200 ปี ของประเทศสหราชอาณาจักร

คุณ Carrington ได้เริ่มต้นว่า “จากการประมาณการของ IMF บริษัทพลังงานฟอสซิลได้รับประโยชน์จากการอุดหนุนทั่วโลก จำนวน 5.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2015 หรือเท่ากับ $10 ล้านในทุกๆ หนึ่งนาที”

“เงินอุดหนุนดังกล่าวมากกว่างบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐบาลทั้งโลกรวมกัน” คือข้อความที่รายงานของไอเอ็มเอฟอ้างถึง

“เงินก้อนใหญ่ที่สุดมาจากผู้ก่อมลพิษที่ไม่ได้จ่ายภาษีให้แก่รัฐบาลจากการเผาถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ในจำนวนนี้รวมถึงความเสียหายของประชาชนในท้องถิ่นที่เกิดจากอากาศเป็นพิษ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากน้ำท่วม ภัยแล้ง และพายุที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ” พูดให้ง่ายกว่านี้ก็คือ รัฐบาลอนุญาตให้คนบางกลุ่มทำลายสมบัติของสาธารณะได้โดยไม่มีการปรับสินไหม

คุณ Carrington ได้ยกเอาคำพูดของศาสตราจารย์ Nicholas Stern นักเศรษฐศาสตร์ด้านภูมิอากาศจาก London School of Economics ว่า “การวิเคราะห์นี้มีความสำคัญมากเพราะได้ทำให้มายาคติที่ว่า พลังงานฟอสซิลมีราคาถูกต้องถูกลบล้างไป โดยการแสดงให้เห็นว่า ต้นทุนที่แท้จริงนั้นมีมากมายขนาดไหน การไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลในการให้การอุดหนุนก้อนมหึมาต่อพลังงานฟอสซิล ได้ทำให้ตลาดถูกบิดเบือน และทำให้เศรษฐกิจเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ยากจนกว่า”

ท่าน Lord Stern ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “การประเมินของ IMF ครั้งนี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริงอีกมาก”

คุณ Carrington ยังได้สรุปความเห็นในรายงานชิ้นล่าสุดนี้ว่า “ถ้าหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลจะทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึง 20% นี่เป็นการก้าวไปข้างหน้าก้าวใหญ่ทีเดียวในการเอาชนะปัญหาโลกร้อน ซึ่งที่ผ่านๆ มามีความก้าวหน้าน้อยมาก”

“การหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลดังกล่าวจะช่วยลดจำนวนคนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากอากาศเป็นพิษนอกบ้านได้ถึง 50% ซึ่งมีจำนวน 1.6 ล้านชีวิตต่อปี”

รายงานของ IMF ชิ้นนี้ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่มีค่าอีกว่า “การทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นอิสระโดยหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิล อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม (Game-Changer) ของเศรษฐกิจหลายประเทศโดยการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโต และลดความยากจน โดยนำเงินที่ใช้ในการชดเชยไปใช้ในด้านการศึกษา สาธารณสุข รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐาน หรือลดภาษีลงได้”

รายงานของ IMF ซึ่งมีความหนาประมาณ 40 หน้า ยังได้กล่าวอีกว่า “ปัจจุบันนี้ทั่วโลกมีการอุดหนุนพลังงานหมุนเวียนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับพลังงานฟอสซิล คือปีละ $1.2 แสนล้านเท่านั้น เงินก้อนนี้จะหายไป หรือไม่จำเป็นต้องมี เมื่อมีการยกเลิกการอุดหนุนพลังงานฟอสซิล” เพราะพลังงานหมุนเวียนจะมีราคาถูกกว่า

กราฟข้างล่างนี้แสดงทั้งจำนวนเงินอุดหนุน และร้อยละของจีดีพีของโลก พบว่า ในช่วง 5 ปีจาก 2011 ถึง 2015 มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2015 สูงถึง 6.5% 
 

 
เมื่อจำแนกเงินอุดหนุนที่รัฐบาลทั่วโลกต้องรับภาระ พบว่า เกินครึ่ง (52%) เป็นค่าผลกระทบด้านมลพิษในระดับท้องถิ่นซึ่งคนท้องถิ่นต้องเป็นผู้แบกรับ ในขณะที่ร้อยละ 24 เป็นผลกระทบในระดับที่เรียกว่าสภาวะโลกร้อน คือ ระดับร่วมกันของโลก รายละเอียดอยู่ในกราฟข้างล่างครับ
 

 
ถ้าจำแนกเป็นรายประเทศที่มีการอุดหนุนสูงสุด 5 อันดับแรก พบว่า ประเทศจีนสูงที่สุด (43%) รองลงมาคือ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย และญี่ปุ่น
 

 
รายงานชิ้นนี้จะเป็นเอกสารสำคัญในการประชุมสภาวะโลกร้อนของสหประชาชาติซึ่งจะมีขึ้นในกรุงปารีสในปลายปีนี้

บทความของคุณ Carrington ยังได้กล่าวอีกว่า “ประธานาธิบดีโอบามา และกลุ่มประเทศ G20 ได้เรียกร้องให้มีการหยุดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลตั้งแต่ปี 2552 แต่แทบจะไม่มีความก้าวหน้า ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานธนาคารโลก Jim Yong Kim ได้กล่าวต่อ The Guardian ว่า มันเป็นความบ้าที่รัฐบาลจะยังคงอุดหนุนการใช้ถ่านหิน น้ำ และก๊าซ เราจำเป็นต้องกำจัดการอุดหนุนพลังงานฟอสซิลเดี๋ยวนี้”

ก็คอยดูต่อไปครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นในปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหวในปัญหาสภาวะโลกร้อน ได้เปลี่ยนยุทธศาสตร์ในการเคลื่อนไหว คือ การเรียกร้องให้องค์กรทางด้านการศึกษาและศาสนา ถอนการลงทุนจากธุรกิจพลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จำนวน 200 บริษัท ตามที่ผมได้กล่าวถึงไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ในจำนวน 200 บริษัทดังกล่าว พบว่า เป็นบริษัทในประเทศไทยร่วมอยู่ด้วย 2 บริษัท (อาจจะมีมากกว่านั้น แต่ผมรู้จักแค่นั้น) คือ Banpu และ PTT

โดยที่ Banpu ติดอันดับที่ 40 ในเรื่องถ่านหิน มีสำรอง 2.040 กิกะตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ 2,040 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ (หมายถึงว่าเมื่อเผาแล้วจะได้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 2,040 ล้านตัน)

สำหรับบริษัท PTT ติดอันดับที่ 86 ในเรื่องถ่านหินมีสำรอง 359 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ติดอันดับที่ 51 ในเรื่องน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรวมกัน 317 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ผมได้ข้อมูลนี้มาจากเว็บไซต์ http://fossilfreeindexes.com/research/the-carbon-underground/ ใครมีเวลาช่วยลองค้นคว้าเพิ่มเติมนะครับ
 

 
ผมลองค้นคำว่า Banpu จากเว็บไซต์ได้ข้อมูลเบื้องต้นดังนี้ครับ
 

 
ประเด็นที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับพลังงานฟอสซิลสภาวะโลกร้อนก็คือ (1) นักวิทยาศาสตร์พบว่า สาเหตุของสภาวะโลกร้อนเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก (2) ถ้าจะรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไว้ไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม มนุษย์จะสามารถเผาได้อีกไม่เกิน 565 กิกะตันเท่านั้น ซึ่งหากใช้ในอัตราปัจจุบันนี้จะหมดภายใน 16 ปี

แต่บริษัทพลังงานฟอสซิล บอกว่า พวกเขา จำนวน 200 บริษัท มีพลังงานสำรองรวมกันมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์กำหนดไว้ถึงกว่า 5 เท่าตัว (คือ 2,795 กิกะตัน)
 

 
พวกเขาขอใช้พลังงานสำรองให้หมดก่อน และในจำนวน 200 บริษัทนี้ มีบริษัทยักษ์ของคนไทยอยู่ด้วย 2 บริษัท เหตุทั้งหมดที่มีการวางแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือพีดีพีแบบล็อกสเปกก็มีแค่นี้เอง ไม่ว่าเรื่องถ่านหินราคาถูก สมดุลพลังงาน และถ่านหินสะอาด ล้วนแต่เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น เพราะมีผลการศึกษาของ IMF รวมทั้งหลายประเทศ เช่น เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ที่ผมได้นำมาเล่าได้ทำให้เราได้เห็นมาแล้วครับ

มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์ที่เห็นแก่ตัวของคนแค่หยิบมือเดียว โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนที่กระทบต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อมของเพื่อนมนุษย์เกือบทั้งโลกเท่านั้นเอง
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น