xs
xsm
sm
md
lg

สายธารประวัติศาสตร์ ไทย จีน ตอนที่ 2 : บทบาทลูกจีนกู้ชาติแห่งกรุงธนบุรี และร่วมสร้างชาติช่วงต้นรัตนโกสินทร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2558
มาถึงยุคกรุงอยุธยาแตกก็ไม่มีการส่งบรรณาการไปยังจีนเป็นเวลานานพอสมควร จนกระทั่งพระเจ้าตากสินได้ส่งสำเภาสินค้าและขอร้องเปิดสัมพันธ์การทูตการค้าภายใต้ระบบบรรณาการใหม่ แต่จีนก็ไม่ยอมรับด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยม โดยมีการศึกษาระบุว่าจักรพรรดิเฉียนหลงต้องการให้ทางสยามแสวงหาราชวงศ์ของอยุธยาก่อน การสถาปนาตัวเองเป็นกษัตริย์นั้นผิดธรรมเนียมผิดจารีต อย่างไรก็ตามด้วยพระเจ้าตากสินมีภาระสงคราม ต้องเลี้ยงดูทหาร จึงแต่งสำเภาสินค้า ให้พ่อค้าเอาของไปขายเป็นประจำ

“ในการเขียนหนังสือประวัติศาสตร์ The History of Thai-Chinese เล่มนี้ ต่างไปจากเล่มอื่นๆ ผู้เขียนไม่คิดว่าการสร้างวีรบุรุษจากบุคคลคนเดียวเป็นเรื่องดี จึงได้บันทึกบทบาทของคนจีนในการกู้ชาติ นอกจากพระยาตากแล้ว จากพงศาวดารบางฉบับระบุกองทัพที่ไปตีค่ายโพธิ์สามต้น มีทัพจีนเป็นทัพหน้า โดยมีแม่ทัพลูกจีน คือ พระยาพิพิธ พระยาพิชัย นอกจากนี้เอกสารของบาทหลวงชาวฝรั่งเศสก็ระบุว่าถ้าไม่ได้ความขยันและความมุ่งมั่นของลูกจีนแล้ว สยามก็จะกลับมาฟื้นตัวได้ช้ากว่านี้ เอกสารไทยไม่เคยดูถูกคนจีนเลย”

ตระกูล “ลูกจีนแห่งยุคกรุงธนบุรี” ที่โดดเด่น อย่างตระกูลของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ตระกูลพนมยงค์สืบเชื้อสายมากจากตันเฮง (Ton Heng) จีนแต้จิ๋วที่อพยพมายังสยามสมัยพระเจ้าเอกทัตแห่งอยุธยา มารดาของตันเฮงเป็นน้องสาวแต้หย่ง (Tae Yong) บิดาของพระเจ้าตาก นอกจากนี้ ยังมี ตระกูลจาติกวานิช,ไกรฤกษ์, ณ สงขลา และสุวรรณคีรี, รัตนกุล, สมบัติศิริ, และสุนทรเวช เป็นต้น
การค้าสำเภากลับมาเฟื่องฟู

การค้าสำเภาหลวงจากสยามเป็นกิจการใหญ่มากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ป้อนสินค้าให้แก่จีนตลอด พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทรงตระหนักถึงความสำคัญนี้ ก็ทรงส่งเสริมให้คนจีนเข้ามาค้าขายในไทย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกแห่งรัชกาลที่ 1 ทรงเข้าใจความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีนเป็นอย่างดี และทรงฟื้นการค้าสำเภาหลวง โดยมีกลุ่มจีนฮกเกี้ยนช่วยสร้างพระคลัง การค้าผูกขาดของพระคลังหลวงตั้งแต่รัชกาลที่1 ถึงปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งรัชกาลที่ 3 ไปถึงช่วงต้นสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งรัชกาลที่ 4 เฟื่องฟูที่สุด สาเหตุหนึ่งที่รัชกาลที่ 1 ทรงให้ความสำคัญการค้าจีนนั้น เนื่องจากติดตามพระยาตากฯซึ่งเข้าใจเรื่องการค้ามาก

ทั้งนี้ พระเจ้าตากทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ได้ สาเหตุหนึ่งมาจากสายเลือดพ่อค้า เข้าใจความต้องการตลาด และแหล่งป้อนสินค้า ระบบเศรษฐกิจอย่างดี อย่างเช่น ตอนหลบหนีไปเมืองจันท์ ซึ่งในสถานการณ์เผชิญศึกสงครามคนไทยทั่วไป จะหนีไปยังเมืองเอก เช่น พิษณุโลก หรือถิ่นที่มีป้อมปราการแน่นหนา มีไพร่ผู้คนมากมาย ขณะที่จันทบูรเป็นเมืองการค้า มีชุมชนพ่อค้าจีน เป็นเมืองที่กองทัพพม่าไม่ได้เดินทางผ่าน พระยาตากไปตีหัวเมืองภาคตะวันออกไม่นาน ก็รวบรวมเรือได้เป็นร้อยๆลำ

เมืองที่พระยาตากยกทัพไปปราบเป็นแห่งแรกๆเป็นแหล่งสินค้าสำคัญ อย่างเช่นนครศรีธรรมราช เมืองท่าแหล่งดีบุกที่ส่งออกไปยังจีน ที่นั่นเสมือนเหมืองทองคำ เป็นสินค้าที่จีนต้องการมากอันดับหนึ่ง ส่วนจันทบูรเป็นแหล่งพริกไทย การเข้าควบคุมบริเวณอ่าวไทย ทำให้มีเสบียงเลี้ยงทหาร เป็นการสร้างฐานเศรษฐกิจของประเทศ

“เชื่อว่า รัชกาลที่ 1 ทรงได้เห็นการสร้างปราการเศรษฐกิจของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อขึ้นครองราชย์ก็ทรงลงรายละเอียดมากขึ้น ถึงขนาดว่าใครมาต่อเรือก็เก็บเงิน นำไม้มาต่อสำเภาจะต้องเก็บเงิน แสดงให้เห็นว่า การควบคุมด้านเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสืบทอดต่อเนื่องมา”

“นับเป็นโชคดี...สำเภาสินค้าที่พระเจ้ากรุงธนบุรีส่งไปเมืองจีน และได้กลับมาถึงสยามในตอนที่พระเจ้าตากเสด็จสวรรคตนั้น มีพระนัดดาในรัชกาลที่ 1 เป็นหนึ่งในกลุ่มทูต กรณีนี้แสดงให้เห็นว่ารัชกาลที่ 1 ทรงรู้เรื่องการค้าขายกับจีนดีเยี่ยม ถึงขนาดมีหลานอยู่ในเรือบรรณาการพระเจ้ากรุงธน ...ไม่ธรรมดาเลย...สัมพันธภาพการค้ากับจีนสมัย รัชกาลที่ 1 ถึง รัชกาลที่ รัชกาลที่ 4 อยู่ในระดับดีเยี่ยม”

สิ่งหนึ่งที่สะท้อนระดับเศรษฐกิจสมัยอยุธยาและช่วงต้นรัตนโกสินทร์ คือสินค้าที่ซื้อจากจีน โดยในช่วงสมัยอยุธยานั้น มีการนำเข้าเครื่องกระเบื้องลายเทพพนมซึ่งจัดเป็นงานฝีมือระดับธรรมดามาก ไม่ใช่งานจากฝีมือช่างหลวง ขณะที่เครื่องกระเบื้องจากจีนช่วงต้นรัตนโกสินทร์จำนวนมากเป็นเครื่องลายน้ำทองจากฝีมือช่างหลวงอันวิจิตรประณีตสวยงาม ราคาสูง

นโยบายพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีส่งเสริมการค้ากับจีนอย่างมาก รัชกาลที่ 1 ก็ทรงรักใคร่คนจีนมาก มีการแต่งตั้งฯให้เป็นพระ พระยา ฯลฯ อย่างเช่น ลูกจีน “อึ้งเต๋าโต” หรือ เจ้าสัวโตได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยานิกรบดินทร์ ต่อมาได้กินตำแหน่งใหญ่ถึงสมุหนายก ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือ และเป็นผู้สร้างวัดกัลยาณมิตรถวายแด่รัชกาลที่ 3

บทบาทกลุ่มเชื้อสายจีนในไทยแตกต่างจากมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย คุณเจฟฟี่ ซุง (Jeffery Sng) ผู้ร่วมเขียนหนังสือ The History of Thai-Chinese กล่าวว่า เป็นเพราะนโยบายของพระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี ที่ทรงส่งเสริมและเกื้อหนุนชาวจีน

โดยการพัฒนาระบบเศรษฐกิจนั้นต้องการแรงงานมาก ขณะที่ช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์มีพลเมืองน้อยมาก เนื่องจากคนตายเป็นจำนวนมากในสงครามกับพม่า สิ่งแรกๆที่พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรีทำ คือกำหนดนโยบายการใช้พลเมืองในการตั้งรัฐ โดยลดการเข้าเดือนของไพร่เหลือ 6 เดือน ต่อมาก็ลดลงเหลือ 3 เดือน จากนั้นก็ค่อยๆลดลงอีก

พระมหากษัตริย์ในช่วงต้นยุครัตนโกสินทร์รัชกาลที่ 1 ไปถึงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงรักคนจีนมาก เพราะขาดแคลนพลเมืองสำหรับการผลิต การก่อสร้าง ฯลฯ คนจีนนั้นถ้าไม่เผชิญสภาพการณ์บีบคั้นจริงๆ เมื่อมาทำงานในต่างแดนก็จะกลับไปบ้านเกิด ฝ่ายไทยก็พยายามดึงดูดคนจีนให้อาศัยอยู่อย่างถาวร โดยมีการพระราชทานบรรดาศักดิ์คุณพระ คุณหลวง เป็นต้น จนกระทั่งกลุ่มคนเชื้อสายจีนเหล่านี้ได้กลายเป็นไทยไปหมด

แม้ในด้านการปกครอง ก็มีการแต่งตั้งคนจีนเป็นเจ้าเมือง ตัวอย่าง ณ สงขลา, ณ ระนอง เป็นต้น เพื่อสร้างฐานอำนาจรัฐบาลสยาม

ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เขตที่เป็นระนองในปัจจุบันนั้นเป็นป่าเขาไร้ผู้คน รัฐกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งชาวจีน คือกอซูเจียง เป็นเจ้าเมืองระนอง กลายเป็นต้นสกุลตระกูล ณ ระนอง

กอซูเจียง (Kaw Sujiang) เป็นจีนฮกเกี้ยน ยากจนมาก บ้านเกิดอยู่ในจางโจว มณฑลฮกเกี้ยน เดินทางออกมาแสวงโชคโดยมีเพียงเสื้อผ้าและไม้คาน มาปักหลักที่ปีนัง ทำงานหนักอยู่ 6 ปี ก็อพยพมายังสยาม ทำการค้าระหว่างปีนังและระนอง ต่อมาก็ได้ค้นพบเหมืองดีบุกจนกลายเป็นนายเหมืองใหญ่ รัชกาลที่ 3 ได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงรัตนเศรษฐี ต่อมา รัชกาลที่ 4 ก็ทรงแต่งตั้งกอซูเจียง เป็นเจ้าเมืองระนอง ปกครองดูแลชุมชนเหมืองจีน ปราบโจรสลัดจากพม่าที่เข้ามาปล้นสะดม

“อั้งยี่” คือ ระบบกงสี
สำหรับคำว่า “อั้งยี่” นั้น มักมีคำหมายในเชิงลบ ... คนจีนอพยพกันมาเป็นกลุ่มๆ โดยอาจเป็นกลุ่มเครือญาติ กลุ่มคนจากหมู่บ้านเดียวกัน ที่มักถูกเรียกว่าพวก “อั้งยี่” แต่สำหรับชาวจีนด้วยกันจะเรียก “กงสี” ซึ่งเป็นระบบการปกครองดูแลภายในชุมชนจีนด้วยกันเอง กงสีหรืออั้งยี่คือวิธีการอยู่ร่วมกันของคนจีน เพื่อที่จะปกป้องทรัพยากรและดูแลกันเอง มีอาวุธสำหรับปกป้องตัวเองเมื่อมีผู้รุกล้ำถิ่นของพวกเขา

รวบรวมเรียบเรียงจากการบรรยายและให้สัมภาษณ์ระหว่างการแนะนำหนังสือ A History of The Thai-Chinese ของอาจารย์ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร เมื่อวันที่ 24 ส.ค.2558

คลิกอ่าน: สายธารประวัติศาสตร์ ไทย จีน ตอนที่ 1 จีน-อยุธยา 

ภาพปก: ประวัติศาสตร์ไทย-จีน โดย เจฟฟรี่  ซุง และ พิมพ์ประไพ พิศาลบุตร

กำลังโหลดความคิดเห็น