xs
xsm
sm
md
lg

รักษาการผู้จัดการ สสส.เตรียมให้ข้อมูล ภาคีสุขภาพยื่น 4 ข้อเสนอปรับปรุงร่าง สสส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รักษาการผู้จัดการ สสส. เตรียมให้ข้อมูล คกก. กำหนดทิศทาง สสส. วันที่ 3 พ.ย. ด้านเครือข่ายภาคีสุขภาพภาคประชาชนเตรียมยื่นร่างข้อเสนอแก้ไขปรับปรังระเบียบ สสส. 4 ข้อ ขณะที่ “อดีตหมอชนบท” ค้านรื้อกฎหมาย สสส. หวั่นทำลายระบบสุขภาพ ติงนักวิชาการนิด้าดูถูกคนทำงานด้านสุขภาพ

วันนี้ (2 พ.ย.) นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ อดีตเลขาธิการมูลนิธิแพทย์ชนบท และแพทย์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์ป้องกัน รพ.น่าน กล่าวว่า สสส. ได้พยายามสร้างนโยบายสาธารณะ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ส่งเสริมกิจกรรมในชุมชน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่วนบุคคล และปรับระบบบริการสุขภาพ ซึ่งที่ผ่านมาไทยเป็นประเทศแนวหน้าด้านการทำงานส่งเสริมสุขภาพ โดยมีต่างชาติมาศึกษาดูงานและชื่นชม แต่คนไทยกลับโจมตีกันเอง การที่ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ นักวิชาการคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวหาว่า สสส. ทำงานไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เพราะมีคนดื่มเหล้าสูบบุหรี่อยู่เต็มไปหมด จึงอยากให้เข้าใจว่า เหล้า บุหรี่ เป็นยาเสพติด คือ สิ่งที่เสพไปแล้วต้องเพิ่มปริมาณไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่เสพจะมีอาการลงแดง การแก้ปัญหาจึงทำได้ยากกว่าอย่างอื่ม เพราะแม้แต่ให้คนลดการกินอาหาร ลดความอ้วนก็ยังยาก แต่ความเป็นจริง คือ ชายไทยสูบบุหรี่ลดลงจากร้อยละ 48.4 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 40.5 ในปี 2554 และคนไทยดื่มสุราลดลงจากร้อยละ 55.9 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 53.4 ในปี 2554

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า ส่วนที่ ดร.อานนท์ ระบุว่า คนที่เป็นที่ปรึกษาใน สสส. แต่ไปเป็นกรรมการมูลนิธิและมูลนิธิไปขอรับทุนนั้น เนื่องจากการทำงานเรื่องเหล้าบุหรี่ มีผู้เชี่ยวชาญไม่มาก และมีผู้สนใจไม่มาก เพราะเป็นเรื่องที่ยาก การจะให้คนเลิกบุหรี่ 1 คน ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก หมอที่เรียนด้านเวชศาสตร์ป้องกันก็มีน้อย หมอส่วนใหญ่จะไปเรียนต่อด้านการรักษาพยาบาล ทำให้มีคนทำงานด้านนี้ในวงจำกัด จึงอาจมีผู้เชี่ยวชาญซ้อนทับกันบ้าง ส่วนกรณีที่บอกว่า สสส. เป็นองค์กรย้อนแย้ง คือ ได้รับเงินจากเหล้าบุหรี่ ย่อมอยากให้เหล้าบุหรี่ขายได้เยอะขึ้น เพื่อให้ได้เงินเยอะขึ้น เท่ากับเป็นการดูถูกคนทำงานด้านสุขภาพ เพราะแพทย์พยาบาลมีจริยธรรมและอุดมการณ์ ที่อยากจะเห็นผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดีขึ้น

“การแก้ไขกฎหมายให้นำเงิน สสส. ไปผ่านระบบราชการ และกำหนดนิยามสุขภาพให้กลับไปที่การรักษาโรค เท่ากับทำลายระบบสุขภาพของไทย ขณะเดียวกัน รัฐบาลนี้ยังไม่ยอมผ่านกฎหมายควบคุมบุหรี่ฉบับใหม่ กลับเร่งสร้างโรงงานยาสูบใหม่ 16,000 ล้านบาท ทำให้สังคมเข้าใจผิดว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเหล้าบุหรี่ เมินปัญหาสุขภาพ ซึ่งเหมือนเป็นปลวกกัดกินรากฐานของสังคมไทย ซึ่งถ้าอีก 10 ปีข้างหน้า อัตราการสูบบุหรี่และสุราของคนไทยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันคนไทยก็ตายจากบุหรี่ ทุก 10 นาที ปีละกว่า 5 หมื่นคนอยู่แล้ว ดังนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแก้กฎหมายก็จะถูกจารึกชื่อว่าเป็นผู้ทำลายชีวิตและสุขภาพของคนไทย” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

นพ.พงศ์เทพ กล่าวว่า หากแก้กฎหมาย สสส. คงตามบริษัทเหล้าบุหรี่ไม่ทัน เพราะเงินในกระทรวงทบวงกรมส่วนใหญ่ใช้ได้แต่การทำงานประจำตามอำนาจหน้าที่เท่านั้น จะไม่สามารถคิดนอกกรอบ สร้างนวัตกรรม โดยเฉพาะสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมของคนที่หลากหลาย มีพลังพอที่จะทัดทานธุรกิจเหล้า บุหรี่ ซึ่งมีทุนมหาศาล และพยายามหาทางเลี่ยงกฎหมาย โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคม เห็นลูกหลานเราเป็นเหยื่อการตลาด หรือแม้แต่งานกาชาด งานแข่งเรือ กว่าจะทำให้เป็นงานที่ปลอดเหล้าได้ ต้องทั้งเชิญชวนรณรงค์ ทำงานร่วมกับชุมชน แต่บริษัทเหล้าจ่ายเงินสนับสนุนครั้งละหลายแสนหลายล้านทั้งบนโต๊ะใต้โต๊ะ ชุมชนบางแห่งก็เปลี่ยนใจกลับไปรับเงินบริษัทเหล้า

ด้าน นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตาม พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 กล่าวว่า วันที่ 3 พ.ย. เวลา 13.00 น. จะเชิญ ทพ.สุปรีดา อดลุยานนท์ รักษาการผู้จัดการ สสส. มาให้ข้อมูล ซึ่งยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับข้อซักถามได้ ถือเป็นความลับและเป็นการถามตอบทันที คาดว่ารายละเอียดของคำถามจะแล้วเสร็จก่อนเข้าประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 3 พ.ย. เวลา 13.00 น. สภาองค์กรลูกจ้าง พร้อมด้วยภาคีสุขภาพภาคประชาชน จะเดินทางเข้าพบ นพ.เสรี โดยจะนำร่างข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขระเบียบกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ 4 ข้อ เพื่อตีกรอบป้องกันและแก้ไขปัญหา มอบให้ที่ประชุมพิจารณา พร้อมแสดงจุดยืนคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 เพราะหวั่นถูกแทรกแซงจากกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศออสเตรเลีย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น