นักวิชาการอัด สสส. แจงหนุนงบการเมืองอ้างโยงสุขภาพ ตีความเกินขอบเขต เหมารวมทุกสิ่งเป็นเรื่องสุขภาพ ชี้ ส่งเสริมสุขภาพต้องวัดผลที่พฤติกรรมและผลลัพธ์ทางสุขภาพ สอนมวยวัดสถิติ “ดื่มเหล้า - สูบบุหรี่” ผิดวิธี แนะดูอัตราผลิต - นำเข้าตรงไปตรงมากกว่า ด้านบอร์ดกำกับ สสส. เตรียมประชุม 13 ต.ค. นี้
จากกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) สรุปผลการตรวจสอบการใช้งบของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และทำหนังสือถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และหน่วยงานต่าง ๆ ให้ร่วมตั้งคณะกรรมการในการกำหนดทิศทาง สสส. ในอนาคต เพื่อกำหนดทิศทางการทำงานของ สสส. ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ซึ่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้แต่งตั้ง นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานคณะกรรมการนั้น
ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เข้ามากำกับการทำงานของ สสส. ให้ตรงตามวัตถุประสงค์ โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพราะที่ผ่านมา จะเห็นว่า สสส. มีการสนับสนุนงบประมาณในโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างเสริมสุขภาพ อย่างเช่น เรื่องของการเมือง แต่กลับออกมาชี้แจงว่ามีความเกี่ยวโยงกับสุขภาพ เพราะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้อง ตรงนี้มองว่าเป็นการตีความที่ไกลจนไม่มีขอบเขต เอาทุกอย่างมาเชื่อมโยงกับสุขภาพทั้งหมด เป็นมิติทั้งสุขภาพกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณ เอาทุกอย่างเข้าไปรวมกันหมด ซึ่งมองว่าการทำงานด้านส่งเสริม หรือสร้างเสริมสุขภาพ ควรที่จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดให้ชัดเจนว่าทำโครงการอะไรก็ตามแล้วส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ
“ยกตัวอย่างทำโครงการส่งเสริมสุขภาพในโรงเรียน ก็ต้องมาวัดผลให้ชัดเจนว่านักเรียนมีพฤติกรรมสุขภาพดีขึ้นหรือไม่ กินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นหรือไม่ น้ำหนักตัวดีขึ้นหรือไม่ การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้าลดลงหรือไม่ ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม มองว่า สสส. เป็นองค์กรที่มีความย้อนแย้งในตัวเอง เพราะสิ่งที่ต้องทำหรือเป้าหมายในการดำเนินงาน คือ การลดสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า กับที่มาของรายได้จากภาษีบุหรี่ สุราถือว่าตรงกันข้ามกัน ถ้า สสส. ทำงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลจริง สสส. จะต้องไม่เหลือเงินสักบาท และหน่วยงานต้องถูกยุบไปในที่สุด แต่จากที่เห็นคือ สสส. ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นตลอด จากปีแรกที่ตั้ง สสส. ได้รับงบประมาณ 500 ล้านบาท จนถึงขณะนี้งบประมาณราว 4,000 ล้านบาท” ดร.อานนท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สสส. มีการชี้แจงตลอดว่า อัตราการบริโภคยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง ดร.อานนท์ กล่าวว่า สสส. กำลังวัดผลผิดวิธี โดยการไปสอบถามกับประชาชน หรือผู้บริโภค ว่า มีอัตราการบริโภคยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นอย่างไร ซึ่งข้อมูลที่ได้อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง เพราะอย่างสำรวจพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ในครอบครัว พ่อแม่ก็อาจไม่ทราบพฤติกรรมที่แท้จริงของลูกว่าแท้จริงแล้วดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือไม่ เพราะมีการปิดบัง การวัดผลที่แท้จริงแล้วควรไปดูมูลค่าการผลิตและนำเข้ายาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่าเป็นอย่างไร หาก สสส. ทำงานได้ผลจริง อัตราการผลิตและนำเข้าต้องไม่เพิ่ม แต่นี่กลับเพิ่มขึ้นทุกปี เจ้าของกิจการรวยขึ้น
“ถ้า สสส. แน่จริง ต้องทำให้เหล้า ไวน์ เบียร์ บุหรี่ ขายไม่ได้เลย และไม่มีคนคิดจะผลิต หรือจะนำเข้า บริษัทพวกนี้ ทั้งของไทย ของต่างประเทศ ต้องเจ๊ง ขาดทุน ล้มละลายกันหมด ถ้า สสส. ทำได้แบบนั้น ผมถึงจะถือว่า สสส. ประสบความสำเร็จ ทำงานได้ผลจริง อย่าอ้างตัวเลขจากการสำรวจแบบหลอก ที่ทำมาแบบผิด ๆ วิธีการทางสถิติ เพราะสิ้นเปลืองเงินและไม่ถูกต้อง ไปดูยอดขายเลย ตรงไปตรงมา ไม่ยอกย้อน เหล้ากี่เท บุหรี่กี่ซอง ตัวเลขมันมีอยู่ ไม่ยากเลย” ดร.อานนท์ กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เลขานุการ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า การทำงานของคณะกรรมการกำหนดทิศทาง สสส. จะเริ่มการประชุมพิจารณาในวันที่ 13 ต.ค. นี้ ที่กระทรวงสาธารณสุข
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่