ศธ. สั่งโรงเรียนห้ามรับการสนับสนุน จัดกิจกรรม CSR จากธุรกิจยาสูบ เดินหน้าเครือข่ายครูส่งเสริมโรงเรียนปลอดบุหรี่ เผยนำร่องแล้ว 13 จังหวัด โรงเรียนกว่า 2,094 แห่ง
พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ.มีนโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่มาโดยตลอด โดยดำเนินการตามแนวทางการปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติในสถานศึกษา เพื่อเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้คุณครูในโรงเรียนต่าง ๆ ร่วมรณรงค์ให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งกำหนดให้สถานศึกษาทุกระดับและหน่วยงานในสังกัด ศธ. ปฏิบัติดังนี้ 1. ห้ามมิให้หน่วยงาน สถานศึกษาเข้าร่วมกิจกรรม หรือรับการสนับสนุนใด ๆ จากผู้ประกอบธุรกิจยาสูบ ซึ่งรวมถึงรูปแบบการดำเนินกิจกรรมของผู้ประกอบธุรกิจยาสูบภายใต้นโยบาย “ความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัท” (Corporate Social Responsibility : CSR) 2. ให้สถานศึกษาต้องบรรจุเรื่องโรคเกี่ยวกับบุหรี่ไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอน 3. ให้สถานศึกษาทุกแห่งติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในสถานศึกษา และห้ามมิให้มีการสูบบุหรี่ในสถานศึกษา ตลอดจนกำชับให้นักเรียน นักศึกษา ห้ามสูบบุหรี่ขณะอยู่ในเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา 4. ให้ผู้บริหารการศึกษา ครูอาจารย์ ตลอดจนบุคลากรในสถานศึกษา ควรประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีโดยการเลิกสูบบุหรี่ และ 5. ให้การสนับสนุนงบประมาณในการผลิตสื่อนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องเพื่อการเรียนรู้ด้านพิษภัยจากบุหรี่ และการวิจัยเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ และติดสิ่งเสพติดของเยาวชนไทยเป็นเรื่องที่ต้องได้รับการดูแล และแก้ไขอย่างเร่งด่วนซึ่งต้องทำอย่างต่อเนื่อง เด็กและเยาวชนจะเริ่มต้นจากการลองสูบบุหรี่เป็นด่านแรก จากนั้นจะลองใช้สิ่งเสพติดและอบายมุขชนิดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ยาเสพติด การดื่มสุรา การเล่นพนัน ภาวะท้องไม่พร้อม ในปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนไทย ติดบุหรี่มากถึงเกือบสองล้านคน และในเด็กไทย 10 คน ที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ดังนั้น การดำเนินงานของเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จะช่วยเสริมหนุนการทำงานด้านการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการให้เข้มแข็งขึ้น อีกทั้ง คุณครูยังได้ทำงานเชิงบูรณาการกับชุมชนในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการป้องกันเด็ก เยาวชนที่อยู่ในและนอกระบบการศึกษา ไม่ให้ก้าวเข้าไปสู่วงจรอุบาทว์ดังกล่าวได้
นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานตลอด 10 ปี ที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานต่อเนื่องในอนาคตของเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่นั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ที่ สสส. ได้กำหนดไว้ เรื่อง ยุทธศาสตร์ เหล้า - บุหรี่ เดินหน้าป้องกันนักดื่ม - นักสูบหน้าใหม่ โดยได้กำหนดทิศทางเป้าหมายการดำเนินงานช่วงปี 2558 - 2560 ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ ลดปริมาณผู้สูบเดิมและป้องกันนักสูบหน้าใหม่ โดยใช้โครงการนำร่องการลดผู้สูบหน้าใหม่ที่ทดลองได้ผลดีมาขยายผล และสร้างแรงจูงใจในการเลิกบุหรี่ของนักสูบเดิมด้วยการเพิ่มการเข้าถึงบริการการเลิกบุหรี่
นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง ผู้แทนเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ภารกิจของเครือข่ายครูฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างให้เกิดเครือข่ายคุณครูที่เข้มแข็ง ในพื้นที่ 13 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม อุบลราชธานี พิษณุโลก เชียงใหม่ เชียงราย สุราษฎร์ธานี และสงขลา มีโรงเรียน 2,094 แห่ง ร่วมขับเคลื่อนให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีโรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบที่สามารถเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ จำนวน 217 แห่ง และสร้างให้เกิดหลักสูตรการอบรมที่หลากหลายในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรครูและบุคลากรทางการศึกษา อาทิ หลักสูตรการอบรมพัฒนาศักยภาพครูทั่วไป หลักสูตรพัฒนาศักยภาพครูเป็นวิทยากร หลักสูตรอบรมครูที่มีความสนใจในการช่วยให้นักเรียนเลิกสูบบุหรี่ และหลักสูตรการอบรมเจ้าหน้าที่สนับสนุนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ รวมถึงการพัฒนาชุดความรู้ในการดำเนินงานให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ สำหรับโรงเรียนที่มีความสนใจเพื่อขยายผลและขยายเครือข่ายให้มากขึ้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่