xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ป่วย-ญาติรวมตัวตั้งเครือข่ายใหม่ ปั้นวิทยากรสะท้อนพิษบุหรี่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ป่วย - ญาติ รวมตัวตั้งเครือข่ายใหม่ต่อสู้ภัยบุหรี่ หวังปั้นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ ความทรมานจากการป่วยเป็นบทเรียนสังคม ให้กำลังใจผู้ป่วยด้วยกันเอง เล็งดึงผู้ป่วยจากคลินิกฟ้าใสทั่วประเทศเข้าร่วม ด้าน “หมอก้อง” รับเคยติดบุหรี่ ย้ำบุหรี่เข้าถึงง่าย - ติดง่าย ชี้ต้องเดินหน้ารณรงค์ต่อเนื่อง ตีกรอบสังคมให้สูบบุหรี่เป็นเรื่องยาก

วันนี้ (9 ก.ย.) ที่อาคารเฉลิมพระบารมี 50 ปี ซอยศูนย์วิจัย กทม. ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) แถลงข่าวการตั้งเครือข่ายผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ว่า ที่ผ่านมา การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในไทยดำเนินการโดยบุคลากรวิชาชีพด้านสาธารณสุข แต่ยังมีช่องว่างอยู่มาก และไม่ค่อยมีเสียงสะท้อนออกมาจากกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากบุหรี่โดยตรง จะมีก็เพียงแค่ผู้ป่วยสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่กลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพองต่าง ๆ เหล่านี้ยังไม่ค่อยออกมาสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อป่วยแล้วได้รับผลกระทบมากแค่ไหน มีความทรมานเพียงใด เนื่องด้วยธรรมชาติของคนไทยเป็นคนขี้อาย พอไม่สบายก็อยากเก็บตัว ไม่อยากออกสื่อ เพราะรู้สึกว่าตัวเองพูดไม่เก่ง ไม่รู้จะสื่อสารกับสังคมอย่างไร

การตั้งเครือข่ายผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นเครือข่ายใหม่นั้น เพื่อเป็นช่องทางให้ผู้ป่วย ญาติ ผู้ได้รับผลกระทบจากบุหรี่ได้สื่อสารโดยตรงกับสังคม ให้เห็นภาพชัดเจนว่าบุหรี่ให้โทษมากน้อยเพียงใด ทั้งสุขภาพกาย จิตใจ เศรษฐานะ โดยใช้บทเรียนตัวเองเป็นบทเรียนให้แก่สังคม เพราะไม่อยากให้เกิดภาพซ้ำเป็นโศกนาฏกรรมต่อไป ไม่อยากเห็นคนป่วยเพิ่ม อยากให้คนป่วยและผู้ได้รับผลกระทบลุกขึ้นมาเป็นกระบอกเสียง ให้คนที่ยังไม่ป่วยสามารถเลิกบุหรี่ได้ทันก่อนป่วย หรือคนที่ป่วยแล้วก็ชะลอความรุนแรงของโรคลงไป เพื่อให้คนรุ่นต่อไปที่เป็นอนาคตของประเทศและมีจำนวนน้อยลง ได้เป็นกำลังพัฒนาประเทศอย่างมีสุขภาพดี” ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าว

ผศ.นพ.สุทัศน์ กล่าวว่า นอกจากการสื่อสารกับสังคมแล้ว เครือข่ายฯ จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างพลังใจให้แก่ผู้ป่วยด้วยกันเอง และสร้างสรรค์การเป็นครู วิทยากร เพื่อให้สามารถสื่อสารกับสังคมได้ ซึ่งขณะนี้เริ่มมีผู้สมัครเข้ามาเป็นเครือข่ายฯ แล้วประมาณ 50 คน และจะขยายจำนวนออกไปเรื่อย ๆ โดยจะดึงผู้ป่วยมาร่วมเป็นเครือข่ายฯ ผ่านคลินิกฟ้าใส ซึ่งมีประมาณ 330 แห่งทั่วประเทศ หากแต่ละคลินิกสามารถดึงผู้ป่วยมาร่วมได้ประมาณ 5 คน ก็ได้เครือข่ายฯ ที่จะออกมาสื่อสารให้ความรู้กับสังคมเป็นพันคน ซึ่งในอนาคตก็จะเข้มแข็งมากขึ้น โดยภายใน 1 ปี ตั้งเป้าว่าจะต้องมีวิทยากรหน้าใหม่เกิดขึ้น ส่วนงบการดำเนินงานนั้นได้รับการสนับสนุนจากสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

พ.ต.นพ.สรวิชญ์ สุบุญ หรือหมอก้อง แพทย์ประจำสำนักงานแพทย์ กระทรวงกลาโหม และดารานักแสดง กล่าวว่า จากการทำงานทำให้มีโอกาสได้พบกับเด็ก เยาวชน และคนทั่วไป ยอมรับว่า กลุ่มคนเหล่านี้ยังไม่เห็นความสำคัญของการงดสูบบุหรี่ เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่รู้ว่าบุหรี่ทำให้เกิดโรคอะไรบ้าง แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดกับตัวเอง เพราะกว่าที่โรคจะเกิดขึ้นนั้นใช้เวลานาน ไม่เหมือนไข้หวัดที่เพียงนั่งติดกันก็มีโอกาสเป็น จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมอายุผู้สูบบุหรี่ถึงต่ำลงเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือ บุหรี่นั้นติดง่ายและเข้าถึงง่าย อย่างวงการบันเทิงถือว่าเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายมาก อย่างตนแม้จะเรียนแพทย์รู้ดีถึงพิษภัยบุหรี่ แต่ยอมรับว่าก็เคยลองและติดบุหรี่อยู่พักหนึ่งเช่นกัน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมซ้ ำๆ มาอยู่ในกองถ่ายเจอแต่บรรยากาศเดิม ๆ ที่มีการสูบบุหรี่ ดังนั้น การเลิกบุหรี่จึงไม่ใช่แค่ตั้งใจเลิกเพียงอย่างเดียว แต่ต้องหลีกเลี่ยงบรรยากาศที่เอื้อต่อการสูบบุหรี่ด้วย ซึ่งขณะนี้ตนก็ไม่ได้สูบบุหรี่แล้ว

พ.ต.นพ.สรวิชญ์ กล่าวว่า ขอให้เครือข่ายฯ อย่าท้อที่จะรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ เพราะเรื่องนี้คงไม่สามารถทำได้สำเร็จใน 1 - 2 ปี แต่ต้องใช้เวลานาน เนื่องจากการจะเลิกบุหรี่ได้ขึ้นอยู่กับการคิดได้ของแต่ละคนด้วย ซึ่งการจะทำให้คนเปลี่ยนความคิดนั้นเป็นเรื่องยาก จึงขอให้รณรงค์อย่างต่อเนื่อง และสร้างสังคมให้แข็งแรงก่อน เช่น จำกัดกรอบให้สูบบุหรี่ยากขึ้น ซื้อบุหรี่ยากขึ้น สังคมต้องสร้างให้เห็นว่าการสูบบุหรี่ไม่ใช่เรื่องปกติที่รับได้ เป็นต้น

นายการุญ ตระกูลเผด็จไกร นายกสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงแห่งประเทศไทย ฐานะผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายฯ กล่าวว่า อยากให้กลุ่มผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ที่เกิดจากพิษภัยบุหรี่มารวมตัวกัน รวมไปถึงครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะพยาบาลด้านหู คอ จมูก ที่รู้ดีที่สุดว่าผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานอย่างไร มาช่วยรณรงค์ในเรื่องนี้ ขับเคลื่อนให้สังคมยอมรับและรู้พิษภัยของควันบุหรี่

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น