xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ลั่นนิยาม”สุขภาพ”ให้ชัด จวกสสส.ตีความครอบจักรวาล เชียร์ยกร่างระเบียบกองทุนใหม่

เผยแพร่:

จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องการตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบการใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์กองทุน เพราะมีการทำงานที่กว้างเกินเรื่องสุขภาพไปไกล โดยให้ร่างระเบียบกองทุน สสส.ใหม่ ให้อยู่ในกรอบของสุขภาพ และมอบให้กระทรวงสาธารณสุข ตั้งคณะกรรมการพิจารณาทบทวนการบริหารจัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และกำหนดแนวทางแก้ไขให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ.2544 ซึ่งมี นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษา รมว.สธ. เป็นประธาน โดยตั้งกรอบเวลา 3 เดือนนั้น

** รมว.สธ.ขอเวลาสอบ สสส.
วานนี้ (15 ต.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯได้มีการประชุมครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 13 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยจะประชุมทุกสัปดาห์เพื่อให้ได้ข้อสรุป เป้าหมายคือ พิจารณาการทำงานของ สสส. ให้ยึดตาม พ.ร.บ.ของตัวเอง ดังนั้น ขณะนี้ขอให้ใจเย็นๆเพื่อที่คณะกรรมการฯได้ทำงาน ไม่ใช่วิจารณ์ไปมากมาย ต้องนิ่งๆ บ้าง เพื่อให้ทุกอย่างไม่วุ่นวายไปมาก ส่วยเรื่องความไม่ชัดเจนของคำว่าสุขภาพ ทำให้เกิดความสับสนจนถึงขณะนี้ จึงต้องมาตีความให้ชัดตาม พ.ร.บ. ส่วนจะเปลี่ยน พ.ร.บ.หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง ตอนนี้ต้องไปตีความให้ชัดก่อน โดยคณะกรรมการฯจะไปพิจารณา ซึ่งจะไปเน้น พ.ร.บ. ที่ผ่านมาบางคนก็ตีความตามความรู้สึกของตนเอง จึงต้องนำมาพิจารณาให้ดีที่สุด
“ขอย้ำว่า คณะกรรมการชุดนี้จะไม่ตีความคำว่า สุขภาพ แต่จะตีความ พ.ร.บ.ฯ ว่ามีเจตนารมณ์อย่างไร และให้ทำอะไรได้บ้าง รวมไปถึงการออกระเบียบย่อยๆ ออกมานั้น เข้ากันได้ดีหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความขัดแย้งส่วนบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น คณะกรรมการชุดนี้ถูกตั้งมาก็ไม่ได้ต้องการจับผิดใคร จะพิจารณาการดำเนินการความเหมาะสมเท่านั้น ซึ่งถ้าผมอยู่ในองค์กรใด องค์กรหนึ่ง และจะมีคนมาตรวจสอบ ผมจะยินดีให้ตรวจสอบ จะไปกลัวอะไร ถ้าพบอะไรไม่โปร่งใสก็บอกมา ผมพร้อมอธิบายได้ เราต้องยืนบนความภาคภูมิใจในองค์กรของเราด้วยเหตุผล ถ้าไม่เข้าใจก็คุยกัน ไม่ใช้อคติในการทำงาน" นพ.ปิยะสกล กล่าว

** ปัดตอบเปลี่ยนผู้บริหารหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีระบุว่า หากการบริหารไม่ดีอาจจำเป็นต้องปรับผู้บริหาร สสส. นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ตนไม่อยากพูดในสิ่งที่ยังไม่รู้ ขอให้รอการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ก่อนจะดีกว่า
เมื่อถามว่ามีการเผยแพร่โครงการที่สสส.ให้ทุนว่า บางโครงการไม่เหมาะสม นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สตง. และ คตร.มีการรวบรวมอยู่แล้ว คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มีหน้าที่ตรวจสอบอะไรใหม่ แค่เอาสิ่งที่ตรวจสอบแล้วมาพิจารณา สิ่งสำคัญก็ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด
รายงานข่าวแจ้งว่า วันนี้ (16 ต.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการกองทุน สสส. (บอร์ด สสส.) ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมด้วย

** ชี้ สสส.นิยามสุขภาพครอบจักรวาล
วันเดียวกัน ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการตรวจสอบ สสส.ในขณะนี้ว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนายกฯที่ว่า เหตุที่ สสส.ใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เพราะมีการทำงานที่กว้างเกินเรื่องสุขภาพไปไกล ตอนนี้การทำงานของ สสส.กว้างมาก กลายเป็นเรื่องกาย (biology) จิตใจ (psychology) สังคม (social) และจิตวิญญาณ (spiritual) นิยามครอบจักรวาล ซึ่งกวาดทุกเรื่องเข้ามาโยงเป็นสุขภาพได้ทั้งหมด แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรถึงจะส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งที่จริงแล้ว สสส.ควรทำเรื่องที่ส่งผลชัดเจนต่อสุขภาพโดยตรงก่อนหรือไม่ เพราะประเทศไทยก็ไม่ได้มีงบประมาณมหาศาล
"ที่ผ่านมาองค์กรตระกูล ส. มักออกมาพูดว่ากระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานด้านสาธารณสุขต่างๆ ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ตอนนี้ สสส.เองก็มีการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน แม้แต่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สะท้อนต่อเรื่องนี้ว่า ทำไมเอาเงินไปทำเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งก็ดูไม่เกี่ยวกับสุขภาพโดยตรง แต่หากเอางบประมาณมาจัดทำเรื่องความครอบคลุมของวัคซีน ฉีดวัคซีนให้เด็กเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแบบนี้จะตรงกว่าหรือไม่" ดร.อานนท์ กล่าว

** ซัดบิดเบือนแนวทาง “หมอประเวศ”
ดร.อานนท์ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาก็เคยเกิดปัญหาเช่นนี้ คือใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ จนภายหลังต้องออกกฎว่า การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพต้องยึดโยงกับพื้นที่ ซึ่งแนวคิดนี้ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร อาวุโสก็เป็นคนริเริ่มเป็นคนแรกในไทย แต่ศิษยานุศิษย์กลับไม่นำแนวคิดนี้มาใช้ คือการทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพต้องยึดในพื้นที่เป็นหลัก และมีการวัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจนว่า ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพและผลลัพธ์ทางสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างไร ทั้งก่อนและหลังดำเนินโครงการ หากมีประสิทธิภาพก็มีโอกาสได้รับทุนอีก แต่ที่ผ่านมา สสส.ไม่เคยมีการประเมินผลที่ชัดเจนเช่นนี้ ซึ่งหากมีการวัดผลที่ชัดเจน คตร.คงตรวจสอบไม่พบ ยกตัวอย่าง การแจกเสื้อยืดให้มาเต้น มาออกกำลังกาย ก็ต้องมีการวัดผลที่ชัดเจนว่าแจกไปแล้วมีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ คือ ประชาชนที่ได้รับแจกเสื้อไปแล้วหันมาออกกำลังกายมากขึ้นหรือไม่ และมีผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ คือ ออกกำลังกายแล้วสุขภาพดีขึ้นหรือไม่ ลดอ้วน คุมน้ำตาลในเลือด เบาหวาน ความดันได้ดีขึ้นหรือไม่ เป็นต้น
“หากมีการวัดผลที่ชัดเจนก็จะบอกได้ว่าใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะหากแจกเสื้อไปแล้วประชาชนก็ไม่หันมาออกกำลังกาย ก็แปลว่าการทำงานนั้นล้มเหลว เป็นการละลายเงินโดยไม่เกิดผลอะไร จึงอยากให้มีการกำหนดประเด็นนี้ให้ชัดใน พ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ" ดร.อานนท์ ระบุ

** ชงตั้งกฎการเงินองค์กรอิสระให้ชัด
ดร.อานนท์ เสนอด้วยว่า ควรมีการร่างระเบียบการเงิน พัสดุ ขององค์กรอิสระให้เหมือนกันทุกองค์กร ไม่ใช่ต่างคนต่างร่างกันเอง เพราะปัจจุบันสังคมมองว่าภาพรวมการใช้งบประมาณขององค์กรอิสระยังเป็นปัญหา
ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้ง สสส.ขึ้นมาเพื่อให้การทำงานด้านสุขภาพมีความรวดเร็วและคล่องตัว การร่างระเบียบเหล่านี้จะทำให้การดำเนินงานของ สสส.ล่าช้าหรือไม่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า คิดว่าไม่น่าทำให้ล่าช้า จริงๆ แล้วอยากให้มองด้วยว่า การใช้งบประมาณต้องสมดุล ทั้งเรื่องความรวดเร็ว ความเป็นอิสระ การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องธรรมาภิบาล เพราะหากใช้เงินอย่างอิสระ ไม่มีการตรวจสอบเลย ก็อาจทำให้เงินรั่วไหลได้
กำลังโหลดความคิดเห็น