xs
xsm
sm
md
lg

ชงบรรจุวัดผล “พฤติกรรม-ผลลัพธ์สุขภาพ” ในระเบียบ สสส.ใหม่ หลัง “บิ๊กตู่” สั่งยกเครื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นักวิชาการหนุน “บิ๊กตู่” ยกเครื่องร่างระเบียบกองทุน สสส. ใหม่ ตีกรอบสุขภาพให้ชัดเจน ชี้ ไทยงบน้อย ควรทำเรื่องสุขภาพโดยตรงก่อนเหมารวมเรื่องอื่นมาทำ เสนอบรรจุการวัดผลพฤติกรรมสุขภาพ - ผลลัพธ์สุขภาพลงในระเบียบ ช่วยสะท้อนใช้งบตรงวัตถุประสงค์ มีประสิทธิภาพหรือไม่

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องการตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบการใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์กองทุน เพราะมีการทำงานที่กว้างเกินเรื่องสุขภาพไปไกล โดยให้ร่างระเบียบกองทุน สสส. ใหม่ ให้อยู่ในกรอบของสุขภาพ ว่า ตนเห็นด้วยกับแนวคิดของนายกฯ เพราะตอนนี้การทำงานของ สสส. กว้างมาก กลายเป็นเรื่องกาย (biology) จิตใจ (psychology) สังคม (social) และจิตวิญญาณ (spiritual) นิยามครอบจักรวาล ซึ่งกวาดทุกเรื่องเข้ามาโยงเป็นสุขภาพได้ทั้งหมด แต่ไม่รู้ว่าเมื่อไรถึงจะส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งที่จริงแล้ว สสส. ควรทำเรื่องที่ส่งผลชัดเจนต่อสุขภาพโดยตรงก่อนหรือไม่ เพราะประเทศไทยก็ไม่ได้มีงบประมาณมหาศาล

“ที่ผ่านมา องค์กรตระกูล ส. มักออกมาพูดว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หน่วยงานด้านสาธารณสุขต่าง ๆ ใช้งบประมาณไม่มีประสิทธิภาพ ตอนนี้ สสส. เองก็มีการใช้งบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนกัน แม้แต่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็สะท้อนต่อเรื่องนี้ว่าทำไมเอาเงินไปทำเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ ซึ่งก็ดูไม่เกี่ยวกับสุขภาพโดยตรง แต่หากเอางบประมาณมาจัดทำเรื่องความครอบคลุมของวัคซีน ฉีดวัคซีนให้เด็กเพื่อส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแบบนี้จะตรงกว่าหรือไม่” ดร.อานนท์ กล่าว

ดร.อานนท์ กล่าวว่า สหรัฐอเมริกาก็เคยเกิดปัญหาเช่นนี้ คือ ใช้งบประมาณไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ จนภายหลังต้องออกกฎว่า การทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพต้องยึดโยงกับพื้นที่ ซึ่งแนวคิดนี้ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎร อาวุโสก็เป็นคนริเริ่มเป็นคนแรกในไทย แต่ศิษยานุศิษย์กลับไม่นำแนวคิดนี้มาใช้ คือ การทำงานด้านส่งเสริมสุขภาพต้องยึดในพื้นที่เป็นหลัก และมีการวัดผลการดำเนินงานที่ชัดเจนว่า ส่งผลต่อพฤติกรรมสุขภาพและผลลัพธ์ทางสุขภาพของคนในพื้นที่อย่างไร ทั้งก่อนและหลังดำเนินโครงการ หากมีประสิทธิภาพก็มีโอกาสได้รับทุนอีก แต่ที่ผ่านมา สสส. ไม่เคยมีการประเมินผลที่ชัดเจนเช่นนี้ ซึ่งหากมีการวัดผลที่ชัดเจน คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) คงตรวจสอบไม่พบ

ยกตัวอย่าง การแจกเสื้อยืดให้มาเต้น มาออกกำลังกาย ก็ต้องมีการวัดผลที่ชัดเจนว่าแจกไปแล้วมีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ คือ ประชาชนที่ได้รับแจกเสื้อไปแล้วหันมาออกกำลังกายมากขึ้นหรือไม่ และมีผลต่อผลลัพธ์ทางสุขภาพ คือ ออกกำลังกายแล้วสุขภาพดีขึ้นหรือไม่ ลดอ้วน คุมน้ำตาลในเลือด เบาหวาน ความดันได้ดีขึ้นหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งหากมีการวัดผลที่ชัดเจนก็จะบอกได้ว่าใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ เพราะหากแจกเสื้อไปแล้วประชาชนก็ไม่หันมาออกกำลังกาย ก็แปลว่าการทำงานนั้นล้มเหลว เป็นการละลายเงินโดยไม่เกิดผลอะไร จึงอยากให้มีการกำหนดประเด็นนี้ให้ชัดใน พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” ดร.อานนท์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ขอเสนอว่า ควรมีการร่างระเบียบการเงิน พัสดุ ขององค์กรอิสระให้เหมือนกันทุกองค์กร ไม่ใช่ต่างคนต่างร่างกันเอง เพราะปัจจุบันสังคมมองว่าภาพรวมการใช้งบประมาณขององค์กรอิสระยังเป็นปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การตั้ง สสส. ขึ้นมาเพื่อให้การทำงานด้านสุขภาพมีความรวดเร็วและคล่องตัว การร่างระเบียบเหล่านี้จะทำให้การดำเนินงานของ สสส. ล่าช้าหรือไม่ ดร.อานนท์ กล่าวว่า คิดว่าไม่น่าทำให้ล่าช้า จริง ๆ แล้วอยากให้มองด้วยว่า การใช้งบประมาณต้องสมดุล ทั้งเรื่องความรวดเร็ว ความเป็นอิสระ การใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเรื่องธรรมาภิบาล เพราะหากใช้เงินอย่างอิสระ ไม่มีการตรวจสอบเลย ก็อาจทำให้เงินรั่วไหลได้

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น