xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ 3 กม.ปฏิรูป สสส.-องค์กรอิสระ สกัดใช้งบเสรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อาจารย์นิด้าเสนอ กม. 3 ฉบับปฏิรูป สสส.องค์กรอิสระทั้งหมด สกัดการใช้งบอิสระ ด้านมูลนิธิผู้บริโภคยันรับงบประมาณ สสส. ทำเรื่องสุขภาพ

จากกรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยพบผิดวัตถุประสงค์ด้านสุขภาพจำนวนมาก ล่าสุด ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ได้ลาออกจากการเป็นผู้จัดการ สสส. ซึ่งบอร์ด สสส. ได้มีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา

วันนี้ (19 ต.ค.) ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า เรื่องการลาออกของ ทพ.กฤษดา คงไม่ขอออกความเห็นว่าเป็นการแสดงสปิริตหรือไม่ แต่ในฐานะประชาชนคนไทยมองว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ คตร. เข้ามาตรวจสอบ สสส. เพราะ สสส. มีการทำงานที่ย้อนแย้งมานาน อีกทั้งคนมองว่าผลลัพธ์การทำงานไม่ชัดเจนและไม่คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้จากภาษีบาปกว่า 4,000 ล้านบาท เนื่องจาก สสส. เป็นหน่วยงานสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค แต่บทบาทหน้าที่ กรอบการทำงานกลับไม่ชัด อย่างการบอกว่าลดปัญหาจากสุรา และบุหรี่ ทำให้คนตระหนักในสุขภาพมากขึ้น ก็ต้องมีตัวเลขและข้อมูลเป็นรูปธรรมในแต่ละโครงการที่สนับสนุนด้วย

หาก สสส. ทำงานบริหารดี ๆ งบ 4 พันล้านบาท ไม่พอด้วยซ้ำ ควรได้มากกว่านี้ เพราะหากบริหารอย่างเป็นระบบ มีความโปร่งใส ไม่อิสระจนตรวจสอบยาก แม้จะบอกว่าตรวจสอบอย่างมากมายก็ตาม หากมีระบบที่ดีงบควรเพิ่มกว่านี้ เพราะควรให้ในการส่งเสริมป้องกันโรค ทั้งเรื่องวัคซีน ทั้งการป้องกันโรคเชิงรุก แต่จุดสำคัญต้องสนับสนุนโครงการในพื้นที่ เพราะแต่ละแห่งปัญหาไม่เหมือนกัน อย่างภาคอีสาน จะมีปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ ไม่ใช่สนับสนุนโครงการกระจายไปหมดแบบนี้ ดังนั้น ถึงเวลาต้องปฏิรูปโครงสร้าง ไม่เพียงแค่ สสส. แต่หน่วยงานที่มีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ ควรปฏิรูปหมด โดย 1. ต้องมี พ.ร.บ. งบประมาณขององค์กรอิสระขึ้น 2. ต้องมี พ.ร.บ. มาตรฐานบัญชีและการตรวจสอบบัญชีขององค์กรอิสระ และ 3. ต้องมี พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างขององค์กรอิสระ” ดร.อานนท์ กล่าว

ดร.อานนท์ กล่าวว่า หากมีกฎหมายทั้ง 3 ฉบับให้กับองค์กรอิสระ น่าจะช่วยให้การทำงานตรวจสอบได้มากกว่านี้และเป็นไปตามระบบ เพราะทุกวันนี้องค์กรอิสระ มีกฎหมายของตัวเอง ประกอบกับมีระเบียบลูกมากมาย การทำงานจึงกว้างไปหมด อย่าง สสส. คำนิยาม “สุขภาพ” กว้างมาก ทั้งที่เจตนารมณ์ พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 โฟกัสเรื่องสุขภาพกาย และใจ แต่ที่ผ่านมากลับกว้างเกินคำเหล่านี้ โยงงานต่างๆ ไปหมด ส่วนโครงการที่ สสส.สนับสนุนไม่เกี่ยวข้องกับสุขภาพต้องเรียกเงินคืนหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ต้องสอบถามนักกฎหมาย แต่เชื่อว่า คตร. และหน่วยงานที่ตรวจสอบน่าจะพิจารณาเรื่องนี้

น.ส. สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณี ดร.อานนท์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตั้งคำถามถึงมูลนิธิฯ ได้รับเงินสนับสนุนจาก สสส. จึงทำให้ออกมาปกป้อง สสส. ว่า มุลนิธิฯ ขอรับทุนจาก สสส. เหมือนกับทุกแห่งที่ดำเนินการ ไม่มีสิทธิพิเศษอะไร ดำเนินการผ่านขั้นตอนที่ถูกต้อง ส่วนการระบุว่ามูลนิธิฯ ออกมาปกป้อง สสส. ข้อเท็จจริงมูลนิธิฯ ไม่มีโอกาสปกป้อง สสส.และผู้จัดการ สสส. เลย ทั้งที่โดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการลาออกของผู้จัดการ สสส. เพราะไม่เห็นที่ไปที่มาและเหตุผลของการตรวจสอบ กระบวนการสอบสวนไม่เป็นไปตามกระบวนการปกครองที่ถูกต้อง ไม่มีโอกาสให้ข้อมูล ชี้แจง หรือโต้แย้งข้อเท็จจริง กับคณะกรรมการที่ตรวจสอบเลย

“ยืนยันว่า มูลนิธิฯ รับทุนด้านทำงานด้านสุขภาพ โดยได้สร้างความตื่นตัวให้ผู้บริโภคคนเล็กคนน้อยให้ลุกขึ้นมาคุ้มครองตนเองโดยแต่ละปีสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิให้ได้รับการเยียวยาไม่น้อยกว่า 10,000 คน หากคิดเป็นเงินไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท รณรงค์ยกระดับความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมไปถึงหลักการของระบบการเงินการคลังเพื่อสังคม และหลักการการดูแลสุขภาพในมิติที่กว้าง การมีส่วนร่วมของประชาชน ผู้บริโภคที่จะทำให้เกิดสุขภาวะอย่างยั่งยืน เป็นหลักคิดสากล เป็นการทำงานสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ที่ต้องใช้เวลาและความต่อเนื่อง หากต้องปรับเปลี่ยนกลไกการทำงานเพื่อความโปรงใส มีประสิทธิภาพ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี แต่ต้องเป็นกลไกที่มีอิสระและความคล่องตัว” น.ส.สารี กล่าวและว่า เรื่องนี้หากตรวจสอบโดยปราศจากสิ่งซ่อนเร้นก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ส่วนตัวมองว่า หากไม่ใช่พรรคพวกก็จะถูกตรวจสอบ หากใช่ก็ไม่ถูกตรวจสอบ เพราะการตรวจสอบข้อเท็จจริงควรต้องมีการเปิดเผยผลการสอบให้สาธารณะทราบด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น