บริษัท คอมแพริซัน ดอท เอเชีย เผยข้อมูลชาวเอเชียนิยมขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ภาพรวมตลาดโต 20% ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ขายสินค้าผ่านโลกออนไลน์ 3 กูรูชั้นนำของไทย เผยกลยุทธ์เพิ่มยอดขายผ่านโซเชียล เคล็ดไม่ลับที่ใครก็ทำได้
นายยศสันต์ ศรีสุชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอมแพริซัน ดอท เอเชีย กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ “คิดทะลุกรอบ เพิ่มยอดขาย ขยายตลาด” พร้อมเผยข้อมูลของนีลเส็นว่า มูลค่ารวมของตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคอาเซียนมียอดขายปีละ 30,000 กว่าล้านบาท และมีการเติบโตปีละกว่า 20% สะท้อนให้เห็นว่ามีคนจำนวนมากสนใจเข้ามาทำตลาดผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นในยุคดิจิตอลนี้ โดยคาดหวังจะใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์ในการเพิ่มยอดขายและขยายธุรกิจนั้นๆ ให้เติบโตยิ่งขึ้น รวมถึงการมองหาโอกาสการขยายตลาดไปต่างประเทศ
ปัจจุบันประเทศไทย มูลค่ารวมของการค้าขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วน 0.6% ของมูลค่าการค้าปลีกในประเทศเท่านั้น โดยประเทศที่มีสัดส่วนมูลค่ารวมการค้าขายออนไลน์เทียบเคียงมูลค่าการค้าปลีกสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 9% และจีน 8% ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน สิงคโปร์นำเป็นอันดับ 1 ที่ 3.5% ตามด้วยฟิลิปปินส์ 3.1% มาเลเซีย 1.4% อินโดนีเซีย 0.7% โดยไทยอยู่อันดับรองสุดท้ายที่ 0.6% ซึ่งถือว่ามูลค่ารวมของการค้าขายออนไลน์ยังต่ำอยู่หากเทียบกับมูลค่าการค้าปลีกในประเทศ และอันดับสุดท้าย คือ เวียดนาม 0.5%
@@@นักการตลาดเผย 8 ธุรกิจที่น่าทำและไม่ตกเทรนด์@@@
อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ด้านการตลาด กล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคดิจิตอลนี้แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จต้องมี Lucky Factor หรือเฮง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องอยู่ถูกที่ ถูกเวลา และถูกธุรกิจ โดยธุรกิจที่อยู่ในเทรนด์และน่าสนใจในช่วงเวลานี้ ได้แก่ 1. ธุรกิจอาหาร 2. ความงาม 3. สุขภาพ 4. การศึกษา 5. เทคโนโลยี 6. ธุรกิจที่เกี่ยวกับเด็ก 7. ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้หญิงเป็นคนตัดสินใจซื้อ และ 8. ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัย ซึ่งอีก 15 ปีข้างหน้าคนไทยที่มีอายุ 60 ปีจะมีสัดส่วนถึง 25% ขณะที่ญี่ปุ่นปัจจุบันมีคนอายุ 65 ปี 25% และจะเพิ่มเป็น 33% ในอีก 15 ปี ซึ่งผู้ประกอบการใดที่ทำธุรกิจผู้สูงวัย ตลาดญี่ปุ่นเป็นตลาดหนึ่งที่น่าสนใจ
“สิ่งที่ต้องมีในการทำแบรนด์ยุคนี้ คือ 1. Great Buzz สร้างกระแสบอกต่อให้เกิดขึ้นแทนที่จะมีแต่สินค้าที่ดีเพียงอย่างเดียว 2. Unique สร้างจุดโดดเด่น นอกเหนือจากสร้างความน่าเชื่อถือ 3. Memorable สร้างการจดจำ มากกว่าจะนำเสนอแต่สิ่งที่ดีที่สุด และ 4. Tell a Story บอกเรื่องราวของสินค้า เพื่อให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมและอยากที่จะบอกต่อ” อาจารย์ธันยวัชร์กล่าว
@@@ศรีจันทร์คิดนอกกรอบดันยอดขายโตก้าวกระโดด@@@
นายรวิศ หาญอุตสาหะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 ผู้พลิกโฉมแบรนด์ศรีจันทร์ให้โดนใจผู้บริโภคด้วยวิธีคิดทะลุกรอบ กล่าวว่า “เรื่องราวหรือตำนานของผงหอมศรีจันทร์ที่ทำให้หน้านุ่มเนียน หน้าไม่มัน มีมานานกว่า 60 ปี ไม่เพียงแต่แบรนด์ที่ดูโบราณ ในส่วนของแพกเกจจิ้งก็ดูไม่ทันสมัย ทำให้ผู้บริโภครู้สึกไม่ภาคภูมิใจเวลาใช้สินค้า ขณะที่ร้านค้าปลีกรายย่อยเองก็ไม่อยากนำมาวางบนชั้นเพื่อให้ผู้บริโภคเห็นได้ง่าย ดังนั้น ผลิตภัณฑ์นี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนหรือรีแบรนด์ครั้งใหญ่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นแผนการตลาด ตัวผลิตภัณฑ์ การเปลี่ยนแพกเกจจิ้งให้มีความหลากหลาย การเพิ่มช่องทางการจำหน่าย การแจกสินค้าตัวอย่าง รวมถึงการทำตลาดผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เช่น ภาพยนตร์โฆษณา สื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อออนไลน์
“ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ศรีจันทร์ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก นำโดยศรีจันทร์ ทรานส์ลูเซนต์ พาวเดอร์ แป้งฝุ่นแพกเกจสีม่วง ดีไซน์สวยงาม ใช้ส่วนประกอบนำเข้ามาจากญี่ปุ่นและสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนตัวสีเขียว สูตรทานาคา ที่ทำวิจัยร่วมกับ สวทช. นาโนเทคก็ขายดีเช่นกัน รวมถึงเบบี้ พาวเดอร์ แป้งสำหรับเด็กก็กำลังเป็นที่นิยมในตลาด ล่าสุดศรีจันทร์เตรียมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่สำหรับผู้ชายในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้”
@@@เผยคนไทยนิยมซื้อสินค้าแฟชั่นผ่านเฟซบุ๊ก@@@
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com นักบุกเบิกธุรกิจ นักสร้างจุดขายที่แตกต่าง ผู้เชี่ยวชาญทั้ง E-Commerce และ E-Marketing ผู้มาพร้อมกับเครื่องมือออนไลน์ที่จะช่วยเพิ่มยอดขาย สร้างรายได้และกำไรให้เพิ่มพูน กล่าวว่า “ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันช่องทางออนไลน์มีความได้เปรียบและน่าสนใจมากกว่าธุรกิจที่มีหน้าร้าน เพราะได้เปรียบตรงต้นทุนต่ำ จำนวนสินค้าที่ขาย ขายสินค้าได้ตลอดเวลา ทุกที่ ทั้งในประเทศและทั่วโลก
นอกจากนี้ ช่วงอายุคนไทยที่เคยซื้อของผ่านโซเชียลมีเดียจะอยู่ที่อายุ 15-34 ปี และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง คิดเป็นสัดส่วน 55.9% ซึ่งสินค้าที่คนไทยนิยมซื้อ เช่น สินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า) อุปกรณ์ไอที เครื่องสำอาง เป็นต้น ส่วนราคาที่ซื้ออยู่ที่ 500-1,000 บาท ขณะที่ช่องทางที่นิยมใช้ในการทำการค้าออนไลน์ คือ เฟซบุ๊ก สังคมออนไลน์ยอดฮิต 3 ปีซ้อน ส่วนทวิตเตอร์และอินสตาแกรมเป็นที่นิยมในกลุ่มเพศที่ 3 ใช้กันมาก ส่วนไลน์ เป็นที่นิยมของกลุ่มเบบี้ บูมเมอร์
ปัจจุบันโซเชียลมีเดียในประเทศไทยมีการเติบโตที่สูงมาก โดยเฟซบุ๊กมียอดผู้ใช้งานสูงถึง 37 ล้านคน ขณะที่อินสตาแกรมมีผู้เล่น 7.8 ล้านคน โดยช่วงอายุ 18-24 ปีมีสัดส่วนสูงสุดที่ 41% ทั้งนี้ ในส่วนร้านค้าในเฟซบุ๊กปัจจุบันมี 10,515 ร้านค้า และร้านค้าในอินสตาแกรมมี 11,213 ร้านค้า รวมถึงการฝากร้านบนอินสตาแกรมคนดังทั้งหมด 58,809 ครั้ง
จากข้อมูลทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าการทำธุรกิจการค้าผ่านออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอนาคตจะเป็นช่องทางสำคัญที่ช่วยผลักดันให้ธุรกิจ SMEs ไทยขยายตลาดได้กว้างขึ้น และช่วยเพิ่มยอดขายให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น เริ่มทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อสร้างความได้เปรียบให้แก่ธุรกิจของคุณในการที่จะเติบโตอย่างยั่งยืนและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *