xs
xsm
sm
md
lg

จริง - ปลอมต้องระวัง! ธุรกิจ “สัมมนา - เวิร์กชอป” เทรนมาแรงหลอกคนอยากรวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ท่ามกลางยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความรีบเร่ง และการแข่งขัน “เวิร์กชอป” หรือ “สัมมนา” ต่างๆ คือสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนในสมัยนี้ได้ดีที่สุด ด้วยระยะเวลาอันสั้นกับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน แต่ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อ ข้อมูลมากล้น เราจะแยกได้อย่างไรระหว่าง “ผู้รู้ตัวจริง” กับ “ของปลอมทำเหมือน”

เวิร์กชอปพารวยเงินล้านกลายเป็นสินค้ามาแรงแซงหนังสือฮาวทูด้วยคำโปรยชวนฝันตั้งแต่ “เคล็ดลับ” “รวยเงินล้าน” “passive income” “อิสรภาพทางการเงิน” “ประสบความสำเร็จ” “พลังบวก” “คิดนอกกรอบ” จนถึง “ความสุขของชีวิต” ที่มักจะจัดโดยคนที่แทนตัวเองว่าเป็น “โค้ช” “กูรู” และ“ผู้เชี่ยวชาญ” เหล่านี้บวกรวมกับกระแสต่างๆ ที่เป็นเทรนด์ขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นอสังหาริมทรัพย์, หุ้น, กองทุน และธุรกิจค้าขายต่างๆ แม้กระทั่งแรงบันดาลใจก็กลายเป็นเวิร์กชอป หรือสัมมนาที่มีผู้คนสนใจเข้าร่วมมากมายได้

และแน่นอน ผู้คนมากมายย่อมมาพร้อมกับเงินมากมายที่ไหลทะลักเข้ามาอย่างมากล้น ทว่าเวิร์กชอปเหล่านี้คือทางออกสู่สิ่งที่บรรยายโฆษณาตัวเองไว้จริงหรือ? หรือจะเป็นเพียงธุรกิจขายฝันหลอกคนตามกระแสเท่านั้น

เวิร์กชอปเงินล้านเทรนด์มาแรงแห่งยุคฝืดเคือง

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การสัมมนาเชิงธุรกิจและเวิร์กชอปพัฒนาตัวเองมีการจัดขึ้นอย่างแพร่หลาย หากเสิร์ชข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็จะพบการจัดสัมมนาและเวิร์กชอปมากมาย ปรากฏการณ์ดังกล่าวด้านหนึ่งก็แอบสะท้อนภาวะหลายอย่างที่สังคมกำลังเผชิญอยู่

ดร. เกียรติอนันท์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มองว่ากระแสดังกล่าวมาจากทั้งด้านของความต้องการเวิร์กชอปที่มีมากขึ้น และกลุ่มคนที่ต้องการจัดเวิร์กชอปเพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่ตัวเอง

“มันมีทั้งสองด้านนี้เกิดขึ้นพร้อมๆกัน คือด้านหนึ่งคนต้องการแสวงหาความรู้เพิ่มขึ้นเพราะเขารู้ว่าในยุคนี้โอกาสมันมีอยู่เยอะ ทั้งโอกาสทางธุรกิจและฝึกฝนพัฒนาตัวเอง เขาจึงมองหาเครื่องมือที่จะไปสู่ฝันของเขาได้ เวิร์กชอปก็ตอบโจทย์ตรงนี้ด้วย”

โดยเขามองว่า ข้อดีของเวิร์กชอป - สัมมนาต่างๆ คือการสามารถจับประเด็นย่อยที่ผู้เข้าร่วมต้องการรู้เข้ามาใส่ได้โดยใช้ระยะเวลาไม่นาน ถือเป็นการตอบโจทย์ด้านเวลาของคนยุคปัจจุบันได้ดี

ทางด้านของ ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย นักการตลาดชื่อดัง มองว่าเทรนด์การเข้าเวิร์กชอปและสัมมนานั้นมีมากขึ้นเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี เมื่อประกอบกับการที่ภาครัฐไม่มีการจัดคอร์สในลักษณะของการพัฒนาตัวเองมากนักเหมือนสมัยก่อนส่งผลให้มีคนหันมาจัดเวิร์กชอปและสัมมนาในลักษณะที่เป็นอยู่เยอะขึ้น

“เศรษฐกิจมันไม่ดีแล้วคนก็อยากรวยเลยกลับมา going back to school คือกลับมาหาวิชาความรู้กันใหม่ อีกเหตุผลคือรัฐบาลสมัยก่อนมันมีอะไรพวกนี้ฟรีเยอะ แต่ตอนหลังคอร์สฟรีของรัฐมันน้อยลงเพราะงบประมาณถูกตัดลง สิ่งนี้ก็เลยกลับมาบูมอีกเพราะว่าตอนนี้คนอยากรวยก็เลยมีพวกโค้ชพวกอะไรแนวนี้ออกมาเยอะ

“เรียนแล้วรวย และคนรุ่นใหม่ก็อยากทำธุรกิจซึ่งความคิดที่ว่างานไม่ประจำทำเงินกว่ามันมีมากขึ้น มีหนังสือประเภทนี้ออกมา ตอนนี้คนเงินเดือนไม่พอใช้มันก็ต้องมีอาชีพที่สอง มันก็ต้องมีสกิลใหม่ๆ เช่นซื้อ - ขายคอนโดฯ ทำธุรกิจโน่นนี้ ซึ่งมันก็มีเวิร์กชอปที่ให้อะไรพวกนี้เกิดขึ้นมารองรับ”

ผลที่เกิดคือตลาดการเวิร์กชอปที่บูมขึ้นมาจนเกิดกูรูโค้ชหน้าใหม่สร้างชื่อด้วยหลากหลายหนทางเพื่อเป็นวิทยากร แต่ค่าใช้จ่ายของการเข้าคอร์สต่างๆ นั้นก็ราคาที่สูงจนน่าตกใจ ตลาดที่บูมขึ้นมานี้ ธันยวัชร์ มองว่าคล้ายกับความต้องการในตลาดของสินค้าทุกประเภท

“ผมว่าเทรนด์การจัดสัมมนากับเวิร์กชอปแบบนี้มันก็จะคงยังอยู่อีกสักระยะหนึ่ง เพราะคนมันต้องการ แต่พอมันมีเยอะแล้วคุณภาพมันไม่ได้ คนก็จะเลือกซึ่งคนที่ไม่ใช่ก็จะไม่มีคนเข้าร่วม เหมือนภาวะตลาดที่คนมีความต้องการมากมันก็จะมีคนใหม่เข้ามาในตลาดเต็มไปหมด เป็นยุคเฟื่องฟูเหมือนหุ้นพอเฟื่องฟูคนก็แห่กันเข้ามาเล่นหุ้น แต่พอตกต่ำมันก็จะเหลือแต่คนที่เป็นนักลงทุนจริงๆ”

เวิร์กชอปเงินล้าน ใครได้เงินล้านกันแน่?

ไม่ว่าจะเป็นเวิร์กชอปด้านการเงิน เวิร์กชอปในการสร้างแรงบันดาลใจต่างๆ จนถึงเวิร์กชอปพารวย ท้ายที่สุดผู้เข้าร่วมย่อมต้องการบางสิ่งบางอย่างกลับคืน ยิ่งเวิร์กชอปมีค่าใช้จ่ายสูง สิ่งที่อยากได้กลับคืนย่อมต้องคุ้มค่ากับการลงทุน

แน่นอนว่า ราคาของเวิร์กชอปแต่ละที่ก็แตกต่างกันไป มีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น และมีช่วงเวลาที่มากน้อยลดหลั่นกันไปตามการออกแบบหลักสูตรซึ่งโดยมากแล้วจะใช้เวลาเพียงไม่กี่วันเท่านั้นเพื่อให้ง่ายแก่การจัดสรรเวลาของผู้เข้าร่วม

ในการขายของเล่นมายากล ผู้ขายมักจะหลอกล่อด้วยเทคนิคนานัปการให้ผู้ซื้อตกตะลึงเกิดเป็นความอยากรู้อยากเห็นจับผิดค้นหาคำตอบ สิ่งที่ขายจึงมิใช่อุปกรณ์การแสดง หากแต่เป็นวิธีการหรือมายากลนั่นเอง การหลอกล่อลวงตาคือกลยุทธ์จุดขาย เช่นเดียวกับเวิร์กชอปและสัมมนามากมายที่เอ่ยอ้างสรรพคุณเกินจริง กระตุ้นความต้องการให้แก่ผู้เข้าร่วม

การจัดเวิร์กชอปและสัมมนาที่ผุดขึ้นมามากขึ้นอย่างผิดปกติ พร้อมกับโค้ช กูรู หน้าใหม่ที่พากันเดินเข้าสู่วงการ สร้างความสงสัยให้แก่ แชมป์ (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) ผู้สนใจด้านการลงทุน โดยเขาเองเป็นผู้ที่เข้าร่วมสัมมนาด้านการลงทุนในประเทศไทยหลายงานด้วยกันโดยมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 40,000 - 100,000 บาท ซึ่งเขาเห็นว่าเนื้อหาและกลวิธีในการจูงใจนั้นมีลักษณะที่เหมือนกัน เมื่อขุดค้นดูก็พบว่านักวิทยากรส่วนใหญ่กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ผ่านคอร์สการอบรมของ แอนโธนี ร๊อบบินส์ ต้นตำรับนักพูดนักจูงใจคนมาก่อนด้วยกันทั้งสิ้น

“แอนโธนี ร๊อบบินส์เชี่ยวชาญการจัดคอร์สโมติเวชั่น (motivation) และมีคอร์สเทคนิคการจัดสัมมนา เทคนิคการจูงใจคน ซึ่งพอสภาพเศรษฐกิจคอร์สลักษณะนี้จะกลับมาบูม เพราะคนทั่วไปจะพยายามไปหาเรียนเพื่อฝึกตัวเองให้พร้อม ดังนั้นคนไทยที่เห็นโอกาสตรงนี้ก็ไปเรียนคอร์สของเขาเพื่อมาเปิดสัมมนา

“เท่าที่ผมเห็นอยู่พวกโค้ชอสังหาริมทรัพย์ไปเรียนเยอะมาก พอกลับมาปุบเขาก็มาจัดสัมมนาของเขาในรูปแบบที่เขาเทรนมาว่าจะต้องจัดสัมมนาในรูปแบบนี้ ราคาเก็บประมาณนี้ แล้วก็บิลด์แบบนี้ โมติเวทแบบนี้ มันจะหลักของเขาประมาณสัก 10 ข้อได้”

โดยคอร์สดังกล่าวนั้นจะมีจัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ใช้เวลาเพียง 2 วันเท่านั้นที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดสัมมนา ระดับราคาที่ควรเก็บ วิธีการจูงใจและการโมติเวท

องค์ความรู้และชุดข้อมูลในตัววิทยากรอาจแตกต่างกันไป แต่วิธีการในการจูงใจและการจัดสัมมนานั้นมีรากฐานมาจากสำนักเดียวกันซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่มีเทคนิคในการจัดสัมมนา สร้างความน่าเชื่อถือ กระตุ้นเร้าคน วิธีการจูงใจตลอดจนระดับราคาที่ควรเก็บและการสร้างจุดขายสร้างความแตกต่าง สิ่งหนึ่งที่เขาเป็นห่วงคือเมื่อเทคนิคดังกล่าวประกอบรวมกับองค์ความรู้ที่ผิดพลาดอาจก่อให้เกิดผลเสียได้เช่นกัน

“ผมคำนวณว่าถ้าตัวโค้ชคนนั้นข้อมูลตัวเองไม่แน่นพอ เขาอาจจะหากินได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เท่านั้น เพราะคอร์สมันมีเยอะแยะมากมาย คนมันตัดสินใจด้วยตัวเองว่าฉันจะเชื่อคนนี้ แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นอีกคือ ถ้าวิทยากรข้อมูลไม่แน่นพอแล้วไปโมติเวทคนในทิศทางที่ผิดมันก็จะทำให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงขึ้นได้ อย่างเรื่องอสังหาริมทรัพย์ผมว่ามันจะเกิดความเสียหาย

“หลักการส่วนมากก็เหมือนกัน คอนโดฯหลักการคือง่ายๆ ซื้อถูกขายแพง แต่การเก็งพวกนี้มันมีองค์ประกอบหลายอย่าง ผมไม่แน่ใจว่าโค้ชเหล่านี้มีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน เก็งผิดมันเสียหายเยอะ คือซื้อมาแล้วขายไม่ได้ คอนโดฯการซื้อมันต้องดูปัจจัยหลายๆ อย่างแล้วถ้าเขาไปโค้ชผิดคนที่เป็นลูกศิษย์ตามไป สมมติจัดคอร์สใหญ่ๆ ที่ผมไปเห็นเขาจัดครั้งหนึ่งคนเข้าร่วม 1,000 คน ซื้อคนละยูนิตก็มีปัญหาแล้ว”

สิ่งที่ควรระวังในการเข้าร่วมสัมมนาลักษณะนี้คือ การสร้างภาพให้ดูน่าเชื่อถือนั้นมีหลักการที่สามารถทำได้อย่างแนบเนียนดังนั้น “ของจริง” กับ “ของปลอม” จึงปะปนเข้ามาอยู่ในวงการนี้กันมาก ชุดข้อมูลบางอย่างมีพลังในการจูงใจคนสูงมาก เขายกตัวอย่างวงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีนักลงทุนหน้าใหญ่เกิดขึ้นมากมายเพราะผลตอบแทนสูง โค้ชก็มีออกมามากขึ้น และทุกคนก็จูงใจว่าตัวเองนั้นเป็นของดี แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้น

“ผมเจอโค้ชหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นเต็มเลย แล้วคนที่ไปฟังก็เยอะมากเลย ผมก็เลยสงสัยว่ามันมาจากไหนกัน บางคอร์สเก็บตังค์หนักๆ แพงๆ เงิน 50,000บาทมันไม่ใช่น้อยๆ และมันน่าสงสัย มันคือการขายคอร์สหรือเปล่าเพื่อเอาเงินมากกว่าหรือเปล่า? ไม่ได้ให้ความรู้ คือสัมมนามันน่าจะให้ความรู้ โจทย์มันคือแบบนี้ แต่พอดูกลไกมันแพงแบบนี้จะดีเหรอ?”

คุณภาพคือสิ่งชี้ขาด

ประโยชน์ของการจัดเวิร์กชอปในสังคมไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การหาเงินให้แก่วิทยากร ดร. เกียรติอนันท์ เผยว่า ในปัจจุบันการจัดเวิร์กชอปคือช่องทางหนึ่งในการสร้างชื่อเสียงให้แก่บริษัท สร้างเครดิตให้แก่ผู้จัดเอง

“อย่างอาลีบาบาเว็บขายของยอดนิยมของจีนก็จัดเวิร์กชอปการนำเข้าส่งออกสินค้า เขาจัดเพื่อให้คนเข้ามาแล้วก็มาเรียนรู้ว่ามีบริการเหล่านี้อยู่ ซึ่งพอมีคนเข้าเวิร์กชอปมันก็เป็นการสร้างความชอบธรรมให้แก่ตัวธุรกิจเองว่ามีคนยอมรับถึงขนาดมีคนมาเรียนรู้กับเขา มันได้ทั้งสองฝ่าย และมันก็เป็นวิธีการโฆษณาแบบเนียนๆ ของธุรกิจด้วย”

แต่ในแง่มุมที่ต้องระวังก็คือการชุบตัวแบบดังข้ามคืนที่นำมาซึ่งตัววิทยากรที่อาจจะไม่มีคุณภาพ เขาเผยว่า ลักษณะของการชุบตัวดังกล่าวจะมีกระบวนการเริ่มตั้งแต่อาจจะจ้างบริษัทพิมพ์หนังสือเพื่อโฆษณาตัวเองเป็นการลงทุนสร้างชื่อเสียง เมื่อมีเครดิตว่าเขียนหนังสือเล่มนั้นๆ ก็สามารถจัดเวิร์กชอปนั้นๆ ได้ในฐานะผู้เชี่ยวชาญ

“แต่ความจริงแล้วเขาอาจจะไม่ได้เชี่ยวชาญอะไรเลย แต่แค่มีหนังสือออกมาเล่มสองเล่มเท่านั้น และงบการพิมพ์หนังสือเดี๋ยวนี้มันออนดีมานด์ไม่กี่หมื่นก็พิมพ์หนังสือได้แล้ว ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปจึงควรดูจากประวัติว่าเขามีผลงานอะไรจริงๆ หรือเปล่า

“แล้วก็มันมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน แหล่งที่เขาเผยแพร่ผลงานคือที่ไหน ถ้าพิมพ์หนังสือจริงก็ต้องพิมพ์กับสำนักพิมพ์ที่เขามีชื่อเสียงอยู่แล้ว ไม่ใช่สำนักพิมพ์ไหนก็ได้ หรือคุณลองอ่านหนังสือเขาก่อนว่าเขารู้จริงหรือเปล่า”

ทั้งนี้ การโฆษณาอย่างเกินจริงในทำนอง “เรียนแล้วรวย” นั้น เขามองว่า ด้านหนึ่งอาจเป็นการโฆษณาแต่ก็ต้องมองถึงจรรยาบรรณในการใช้ความโลภของคนมาเป็นเครื่องมือด้วย

“มองในแง่การตลาดได้ว่าทำให้คนสนใจ แต่ผมไม่เชื่อเรื่องทางลัดในการประสบความสำเร็จในชีวิต โดยส่วนตัวผมเชื่อว่าความสำเร็จมันเกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ มากกว่าที่จะทำได้รวดเร็ว และการนิยามความสำเร็จด้วยการให้เงินเป็นตัวตั้งมันจะชี้นำสังคมไปในทางที่ผิดได้”

อย่างไรก็ตาม การเวิร์กชอปก็มีด้านที่ดี เขามองในฐานะนักการตลาดว่า การทำเวิร์กชอปที่ดีจำป็นจะต้องเอาความต้องการของผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปเป็นที่ตั้ง และคุณภาพของวิทยากรต้องมีความรู้และให้ประโยชน์กับผู้เข้าร่วมได้จริงๆ

“หากเป็นผู้รู้จริงมีประสบการณ์และสามารถดึงเอาสาระสำคัญของประสบการณ์ออกมาได้จริงๆ การเวิร์กชอปสัมมนาเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมได้ครับ อีกสิ่งที่สำคัญคือตัวผู้เข้าร่วมหากมีความสนใจจริงจังกับประเด็นที่ต้องการการเข้าเวิร์กชอปก็จะได้รับประโยชน์สูงสุด”

ทางด้านของ ธันยวัชร์ มองว่าผู้คนต้องรู้จักแยกแยะ โดยเชื่อว่าในยุคปัจจุบันของจริง - ของปลอมอาจจะไม่มี มีเพียงวิทยากรที่เก่งมาก - เก่งน้อยเท่านั้น เพียงแต่ในยุคนี้หากผู้จัดไม่เก่งจริง ผู้เข้าร่วมก็จะบอกต่อและทำให้ไม่มีคนเข้าร่วมเวิร์กชอปไปเอง

“ถ้าเกิดคนไม่รู้จักแยกแยะ เห็นแค่โปรโมตราคาไม่แพงมาก เรียนแล้วรวยหรือวิทยากรอาจจะเขียนหนังสือขึ้นมาสักเล่ม คนอาจจะคิดว่าเขียนหนังสือก็ต้องเป็นคนเก่งก็อาจจะเข้าร่วม ซึ่งผมคิดว่าคงไม่มีของปลอม มีแต่เก่งมากเก่งน้อย แต่ถ้าไม่ดีจริงคนก็จะออกมาพูดต่อเอง เดี๋ยวนี้คนที่เรียนมันก็เก่งไง

“พูดตรงๆ ว่า ตอนนี้ข้อมูลข่าวสารมันก็เยอะ ไม่ต้องเรียนก็ได้ เพียงแต่บางคนเขาอาจจะมีทางลัดมาพูดให้ฟังก็ดีกว่า ถ้าดีแล้วคุ้มค่าเงินคนก็จะพูดต่อแต่ถ้าไม่ดีแพงไปคนก็จะพูดต่อและตั้งกระทู้ต่างๆ มันจะมีทันทีเลย คือสุดท้ายแล้วคุณภาพจะเป็นตัวชี้ขาด”
….

ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนมีดี - ชั่วปะปนกันไป ในวงการธุรกิจเวิร์กชอป - สัมมนาที่กลายเป็นเทรนด์มาแรงมากขึ้น ผู้ที่กระโจนเข้าแสวงหาผลประโยชน์ย่อมมีมากขึ้นตาม ทั้งนี้ การจะประสบความสำเร็จนั้นโดยมากแล้วไม่ใช่สิ่งที่ได้มาโดยง่าย อีกทั้งนิยายความสำเร็จของแต่ละบุคคลก็อยู่ในขอบเขตนิยามที่แตกต่างกันไป การปลุกเร้าชักจูงเป็นเพียงเครื่องมือทรงพลังอย่างหนึ่งที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งหนึ่งที่พึงตระหนักไว้คือ ทางลัดเพียงเวิร์กชอป - สัมมนาเดียวนั้นไม่อาจสร้างหนทางที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE


มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!! และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.comหรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754
การ์ตูนเสียดสีเวิร์กชอปสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต
แอนโธนี ร๊อบบินส์ ต้นตำรับนักปลุกใจชื่อดังระดับโลก

กำลังโหลดความคิดเห็น