xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.จัดงบ 24 ล.สิทธิปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดรักษามะเร็ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. จัดสรรงบปี 59 สิทธิปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดรักษามะเร็ง 30 ราย รายละ 8 แสนบาท รวมค่าติดตามดูแลหลังรักษา 1 ปี จับมือ 6 โรงเรียนแพทย์ให้การรักษา

นพ.ชูชัย ศรชำนิ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้บรรจุวิธีการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูกโดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ในการรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และโรคไขกระดูกผิดปกติ รวมถึงโรคอื่น ๆ ที่จำเป็น หลังจากทำโครงการนำร่องมาตั้งแต่ปี 2551 พบว่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่ง สปสช. ได้เดินหน้าสิทธิประโยชน์การปลูกถ่ายไขกระดูกฯ อย่างต่อเนื่อง และตลอดในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ได้ให้บริการผู้ป่วยไปแล้วกว่า 289 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ในปี 2559 สปสช. ยังจัดสรรงบประมาณสำหรับสิทธิประโยชน์การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตให้กับผู้ป่วย 30 ราย รายละ 800,000 บาท ประกอบด้วยค่า HLA matching ค่าทำปลูกถ่ายไขกระดูก ค่ายากดภูมิคุ้มกัน เคมีบำบัด รังสีรักษา ค่ายารักษาโรคติดเชื้อ/อาการแทรกซ้อนในระหว่างการดูแลผู้ป่วย รวมถึงค่าติดตามดูแลผู้ป่วยเป็นระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่มีการจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล โดยผู้ป่วยที่จะรับการรักษาจะต้องผ่านการพิจารณารับรองจากคณะทำงานพัฒนาแนวทางเวชปฏิบัติและคัดเลือกผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ด้วยวิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต สำหรับผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่

สำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมบริการรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต ในปี 2559 นี้ มีจำนวน 6 แห่ง ได้แก่ รพ.รามาธิบดี รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.สงขลานครินทร์ และ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ (เฉพาะผู้ป่วยผู้ใหญ่) ส่วนหน่วยบริการอื่นที่มีคุณสมบัติตามที่ สปสช. กำหนด สามารถเข้าร่วมโครงการได้ แต่ต้องผ่านการตรวจประเมินขึ้นทะเบียนหน่วยบริการตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด” ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น