xs
xsm
sm
md
lg

3 หน่วยงานลงนามร่วมบริหารยาบริจาคมะเร็งราคาแพง ประหยัดงบกว่า 2 พัน ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

กรมแพทย์ ลงนามร่วม สปสช.- อภ. จัดระบบบริหารยาบริจาคราคาแพงในกลุ่มมะเร็ง หวังกระจายยาบริจาคเหมาะสม ใช้มีประสิทธิภาพ เหตุที่ผ่านมายังสะเปะสะปะ ยันยาในระบบยังมีคุณภาพ ครอบคลุมยาต้นแบบและนำเข้า แต่ยาบริจาคช่วยประหยัดงบรัฐกว่า 2 พันล้านบาท

วันนี้ (22 ก.ค.) นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ภก.สมชาย ศรีชัยนาค รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ลงนามความร่วมมือบริหารจัดการนำยาบริจาคที่มีมูลค่าสูงมาใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ คือ ยาอิมมาตินิบ และยานิโลตินิบ รวมไปถึงยารักษาโรคมะเร็งเต้านม

ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า ยาราคาแพงส่งผลต่อการเข้าถึงยาของผู้ป่วย ที่ผ่านมา สปสช. ก็พยายามดำเนินการจัดซื้อโดยต่อรองราคายา ทำให้ได้ราคาที่ถูกลง เพื่อให้ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองได้เข้าถึงยามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยาบางตัวมีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียวทำให้ยากแก่การต่อรองราคา แม้รัฐบาลจะมีการดำเนินการการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา แต่ปัจจุบันมียาใหม่ ๆ ออกมา โดยเฉพาะยารักษามะเร็งที่เป็นลักษณะออกฤทธิ์แบบเฉพาะเจาะจง (Target Therapy) ซึ่งมีราคาแพง ก็ยังทำให้เป็นปัญหาอยู่ โดยปัจจุบันก็มีบริษัทผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายยาประสงค์บริจาคยา เพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยในประเทศไทยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่ผ่านมาการบริจาคผ่านหน่วยงานต่าง ๆ ยังไม่เป็นระบบ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ระหว่างกรมการแพทย์ อภ. และ สปสช. จะเป็นการวางรากฐานในการทำให้การบริจาคยาเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งถือเป้นครั้งแรกที่จัดให้มีกลไกดังกล่าว

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า การบริจาคยาราคาแพงจำนวนมากมูลค่าจึงยิ่งสูง จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการมารองรับ เพื่อให้มีการกระจายยาและการกำกับติดตามการใช้ยาให้เหมาะสมตรงตามวัตถุประสงค์หรือเจตนารมณ์ของผู้บริจาค และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วยและเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดซื้อยาของประเทศ โดยกรมการแพทย์ ในฐานะที่เป็นกรมวิชาการของ สธ. จะเป็นผู้รับบริจาคยาและนำเข้ายาบริจาค วางแผน กำกับ ติดตามการกระจายยาบริจาคให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้บริจาค และรายงานผลการกระจายยาต่อกรมศุลกากร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สธ. หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง สปสช. ทำหน้าที่ประสานงานทำความเข้าใจหน่วยบริการเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เกี่ยวข้องในการเบิกชดเชยยาดังกล่าวให้กระจายยาได้ตรงตามการสั่งใช้ยาของแพทย์ในแต่ละหน่วยบริการ และ อภ. ทำหน้าที่รับผิดชอบเก็บรักษายาและกระจายยาบริจาคให้หน่วยบริการตามข้อมูลการเบิกชดเชยยาเช่นเดียวกับการกระจายในระบบปกติ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การรับบริจาคยามะเร็งราคาแพง เพื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยบัตรทอง สะท้อนถึงประสิทธิภาพของยาในระบบบัตรทองต่อการรักษาไม่ดีพอหรือไม่ ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า การรับบริจาคยามะเร็งราคาแพงไม่ได้หมายความว่ายาในระบบไม่มีคุณภาพ เพราะก่อนที่จะนำมาบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติ ก็มีการตรวจประเมินคุณภาพอยู่แล้ว ส่วนบัญชียา จ2 ซึ่งเป็นยาราคาแพงก็มีในส่วนของยาต้นแบบและยานำเข้าด้วย อย่างยาอิมมาตินิบที่รับบริจาคนี้ก็บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักฯ ในส่วนของยาบัญชี จ2 เพียงแต่การบริจาคยาจะช่วยให้ไม่ต้องใช้งบประมาณรัฐในการจัดซื้อ ซึ่งยาที่รับบริจาคทั้งหมดในความร่วมมือครั้งนี้สามารถช่วยประหยัดเงินได้มากถึง 2 พันกว่าล้านบาท

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น