xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.ต้นเหตุรักษาเหลื่อมล้ำ ทำผู้ป่วยตายสูง แฉคนไข้ไร้ทางเลือกรับยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หมอประชุมพร” มั่นใจกูรูงานวิจัย “อานนท์-อภิวัฒน์” ไม่ตีความผิดบัตรทองตายสูงกว่าข้าราชการ ชี้เกิดจากสิทธิการรักษาต่างกัน จากนโยบาย สปสช.เป็นต้นเหตุความเหลื่อมล้ำ ทำผู้ป่วยบัตรทองไร้ทางเลือกใช้ยา แฉคนไข้ยอมจ่ายเองก็ไม่ได้ รพ.ต้องคืนเงิน หมอไม่กล้าสั่งยานอกบัญชีฯ จับตาเวทีเสวนาบัตรทองตายสูง ไม่เปิดกว้างส่อไม่โปร่งใส

พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ พยาธิแพทย์ประจำโรงพยาบาลศูนย์สุรินทร์ กล่าวถึงกรณี ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลวิจัยของสถาบันวิจัยพัฒนาเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตายสูงกว่าสิทธิข้าราชการมากถึง 70% โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ท้วงว่าเป็นการตีความผิดว่า เชื่อว่า ดร.อานนท์และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ คงไม่ได้ตีความงานวิจัยผิด เพราะ ดร.อานนท์เป็นอาจารย์สอนด้านตัวเลขและสถิติ ส่วน ศ.นพ.อภิวัฒน์ก็เป็นผู้ทำวิจัย ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งคู่ สำหรับงานวิจัยดังกล่าวก็ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างที่ทีดีอาร์ไออ้าง เพราะก่อนหน้านั้นไม่เคยนำมาแสดง แต่ล่าสุดเพิ่งนำมาแสดงบนเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอ เพราะผลวิจัยในส่วนนี้ไม่ได้เป็นที่ต้องการ สิ่งที่ต้องการคือจะบอกว่าสิทธิบัตรทองและข้าราชการมีความเหลื่อมล้ำ ต้องการงบประมาณเพิ่มขึ้นหรือรวม 3 กองทุน

พญ.ประชุมพรกล่าวว่า ผู้ป่วยบัตรทองตายสูงกว่าข้าราชการนั้น มองว่าแพทย์ที่รักษาก็เป็นแพทย์เดียวกัน โรงพยาบาลเดียวกัน ปัจจัยจึงไม่น่าเกี่ยวข้องกับแพทย์เพราะให้การรักษาเต็มที่เหมือนกัน แต่น่าจะเป็นปัจจัยในเรื่องของสิทธิมากกว่าที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตที่ต่างกัน อย่างเรื่องยา ผู้ป่วยบัตรทองก็ถูกบังคับให้ใช้ยาบัญชียาหลักแห่งชาติ ใช้เกินจากนี้ไม่ได้ และแพทย์ก็ไม่กล้าสั่งจ่ายให้คนไข้ด้วย แม้ยานั้นจะจำเป็นต่อการรักษาก็ตาม เพราะแพทย์จะต้องแบกรับค่าใช้จ่ายตรงนั้นเอง เนื่องจากนโยบายของ สปสช.กำหนดว่าคนไข้ห้ามจ่าย แม้คนไข้จะยินยอมจ่ายเพื่อได้รับยาที่ดีขึ้นก็ทำไม่ได้ เพราะกรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้น โดย สปสช.ติดต่อกลับมายังผู้อำนวยการโรงพยาบาลให้คืนเงินผู้ป่วย แพทย์ก็ต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายตรงนี้ ทำให้ไม่มีแพทย์คนไหนกล้าสั่งยานอกเหนือบัญชีฯ

“ที่สำคัญคือยาครึ่งหนึ่งของโรงพยาบาลนั้นเป็นยาที่คนไข้ไปซื้อที่ร้านขายยาเองไม่ได้ เพราะเป็นยาที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำเพาะต้องสั่งจ่าย เช่น ยารักษามะเร็ง การจะได้ยาก็เท่ากับว่าต้องเข้าโรงพยาบาลเท่านั้น คนไข้บัตรทองจึงได้แต่เฉพาะยาที่บังคับให้ใช้เท่านั้น เรื่องเหล่านี้คนไข้ไม่รู้ แต่คนที่รู้คือแพทย์ เห็นได้ว่าสิทธิการรักษามีความเหลื่อมล้ำจริง แต่ถามว่าใครเป็นคนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ก็เพราะนโยบายของ สปสช.” พญ.ประชุมพรกล่าว และว่า สำหรับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะจัดให้มีการเวทีเสวนาเรื่องผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตายสูงนั้น คงต้องขอดูก่อนว่าเปิดกว้างให้แพทย์ได้เข้าไปแสดงความคิดเห็นหรือไม่ เพราะการเสวนาในเรื่องงานวิจัยควรเป็นแบบสาธารณะ แต่ถ้าไม่กล้าให้เข้าไปร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็นก็คงไม่เข้าร่วม เพราะแปลว่าไม่โปร่งใส

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น