“อานนท์” พร้อมร่วมประชุมตีความงานวิจัยบัตรทอง ท้า ทีดีอาร์ไอ - สปสช. โชว์งานวิจัยฉบับเต็ม ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองตายมากกว่าสิทธิข้าราชการ แสดงความบริสุทธิ์ใจตีความผิดหรือไม่ เสนอ สปสช. หยุดกระบวนการซื้อยาเหมาโหล บังคับ รพ. รักษาตามแนวทางเพื่อแลกเงิน สกัดการตายที่ป้องกันได้
ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า หลังจากเขียนบทความเกี่ยวกับผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรื่องโครงการศึกษาผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ โดยเปรียบเทียบผู้ป่วยสิทธิบัตรทองและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ พบว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองสูงผิดปกติ คือ ผู้ป่วยที่อายุมากกว่า 60 ปี ที่เข้ารับการรักษา ในปี 2550 - 2554 ด้วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดในสมอง โรคมะเร็งจะตายในหนึ่งปีมากกว่าสิทธิข้าราชการถึงร้อยละ 70 หรือ ตายมากกว่าสิทธิราชการถึง 7 หมื่นกว่าคน และผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด อุบัติเหตุหลอดเลือดในสมอง และ มะเร็ง จะตายมากผิดปกติต่างจากโรคอื่น 3 หมื่นกว่าคน เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องหาทางป้องกัน แก้ไขอย่างเร่งด่วน และหยุดการตายที่ป้องกันได้ แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง กลับไม่ยอมรับในเรื่องนี้ และมีการออกข่าวว่าเป็นปัญหาในเรื่องการตีความงานวิจัย
“จริงๆ แล้วผลการวิจัยของทีดีอาร์ไอที่เป็นตัวฉบับเต็มพบว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองอัตราการตายสูงกว่าข้าราชการมาก แต่เมื่อผลวิจัยออกมาเป็นเช่นนี้ สปสช.ซึ่งจ้างให้ทำงานวิจัยนี้ไม่อยากให้สังคมรับรู้ จึงเลือกเผยแพร่แต่ผลวิจัยที่ให้เป็นผลดีออกมา ซึ่งในวันที่ 23 มิ.ย. จะมีการประชุมอภิปรายเรื่องการตีความงานวิจัยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญหน่วยงานต่างๆ เช่น นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษาด้านหลักประกันทางสังคม ทีดีอาร์ไอ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแแห่งชาติ (สนช.) และผู้บริหารระดับสูงของ สปสช. ผมจะเรียกร้องขอให้ทีดีอาร์ไอส่งข้อมูลผลการวิจัยฉบับเต็มออกมา เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเลยว่าตีความผิดจริงหรือไม่” ดร.อานนท์ กล่าว
ดร.อานนท์ กล่าวว่า อัตราการตายที่มากกว่า 70% ในบางโรคเช่นนี้ถือว่ามีความผิดปกติ ซึ่งตนมองว่าจำเป็นต้องหยุดการดำเนินการของ สปสช. ก่อนที่จะหาสาเหตุ นั่นคือ หยุดการซื้อยาแบบเหมาโหล ซึ่ง สปสช. ได้รับงบประมาณปีละแสนกว่าล้านบาท โดยหักเงิน 30% มาเพื่อซื้อยาแบบเหมา และบังคับแพทย์ให้รักษาคนไข้ด้วยวิธีนั้นวิธีนี้จึงจะได้เงิน จึงอยากให้ สปสช.หยุดกระบวนการนี้ไว้ก่อน และหาทางแก้ไข เพื่อหยุดการตายที่สามารถป้องกันได้
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่