xs
xsm
sm
md
lg

สธ.โต้ผลวิจัยทีดีอาร์ไอไม่รอบด้าน ปัดผู้ป่วยบัตรทองตายมากกว่าขรก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - IHPP ชี้ผู้ป่วยบัตรทองตายมากกว่าข้าราชการไม่จริง เหตุหมอดูแลรักษาเท่าเทียม ไม่เกี่ยงสิทธิ อยู่ที่ปัจจัยการดูแลหลังการรักษา เศรษฐานะ สังคมครัวเรือน อ้างผลวิจัยอัตราตายโรคหลอดเลือดสมองตีบ-กล้ามเนื้อหัวใจตายผู้ป่วยบัตรทองลดลงชัดเจน วอนอย่าตีความงานวิจัยแบบไม่รอบด้าน หวั่นสังคมสับสน
นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการเผยแพร่ข้อมูลการวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพ และความเป็นธรรมทางสุขภาพ จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบอัตราตายของผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป ในกลุ่มหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงกว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ ว่า การนำผลวิจัยดังกล่าวไปอ้างอิง ต้องดูข้อมูลอื่นประกอบในหลายมิติ โดยเฉพาะปัจจัยครัวเรือน และการดูแลต่อเนื่องหลังการรักษา ซึ่งระดับการศึกษา และเศรษฐานะ มีผลต่อการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องหลังจากออกโรงพยาบาล ซึ่งงานวิจัยของ IHPP สะท้อนเรื่องนี้อย่างชัดเจน โดยศึกษาเรื่อง “อัตรารอดชีวิตหลังรักษาหนึ่งปี ของผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายแบบ ST elevation (STEMI) จำนวน 287,345 คน ระหว่างปี 2549-2555” พบว่า อัตราการรอดชีวิตหลังจากการรักษาครั้งแรก 1 ปีของผู้ป่วยบัตรทองดีขึ้น
" กลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอายุ 15-59 ปี อัตรารอดชีวิตหลังรักษาครั้งแรกครบ 1 ปีเพิ่มจากร้อยละ 80.3 ในปี 2549 เป็น 85.7 ในปี 2555 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบอายุ 60 ปีขึ้นไป อัตรารอดชีวิตจากร้อยละ 64 ในปี 2549 เพิ่มเป็น 68.6 ในปี 2555 ขณะที่กลุ่มผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายอายุ 15-59 ปี อัตรารอดชีวิตหลังรักษาครั้งแรกครบ 1 ปี ร้อยละ 78.7 ในปี 2549 เพิ่มเป็น 85.3 ในปี 2555 ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอายุ 60 ปีขึ้นไป จากร้อยละ 58.9 ในปี 2549 เพิ่มเป็น 64.8 ในปี 2555 นอกจากนี้ ยังพบว่า อัตราความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตผู้ป่วยบัตรทอง มีแนวโน้มลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยระบบข้าราชการ หากมีอายุเท่ากัน เพศเดียวกัน มีโรคร่วมและภาวะแทรกซ้อนระดับเดียวกัน และเข้ารักษาในโรงพยาบาลระดับเดียวกัน โดยปี 2552 โรคหลอดเลือดสมองตีบผู้ป่วยบัตรทองมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าระบบข้าราชการร้อยละ 34 แต่ปี 2555 มีแนวโน้มเสียชีวิตสูงกว่าข้าราชการลดลงเหลือร้อยละ 15 ส่วนโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ผู้ป่วยบัตรทองมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าระบบข้าราชการ ร้อยละ 19 แต่ในปี 2555 อัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าระบบข้าราชการถึงร้อยละ 18 เนื่องจากเข้าถึงบริการดีขึ้น ขณะที่ระดับการศึกษาและเศรษฐานะผู้ป่วยบัตรทองล้วนต่ำกว่าผู้ป่วยระบบราชการ" นพ.วิโรจน์ กล่าว
นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองในสองโรคดังกล่าว มากกว่าผู้ป่วยข้าราชการจริง แต่มีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม อัตราการเสียชีวิตระหว่างผู้ป่วยบัตรทองและข้าราชการไม่แตกต่างกันมากอย่างที่ปรากฎในรายงานของทีดีอาร์ไอว่า ผู้ป่วยสองโรคนี้ในระบบบัตรทองตายหมดภายใน 100 วัน และผู้ป่วยระบบสวัสดิการข้าราชการตายหมดภายใน 365 วัน ไม่มีใครรอดชีวิตเลยแม้สักคนเดียว ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริง อีกทั้งสาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้มาจากการรักษา ดังนั้น อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองที่สูงกว่า น่าจะมาจากปัจจัยอื่นร่วมด้วย โดยเฉพาะปัจจัยครัวเรือนและการดูแลต่อเนื่องหลังการรักษา อีกทั้งในการรักษาผู้ป่วยไม่ว่าแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานอยู่หน้างานในหน่วยบริการให้การรักษาผู้ป่วยอย่างเสมอภาคกัน ไม่ได้คำนึงว่าผู้ป่วยเป็นสิทธิใด โดยเฉพาะผู้ป่วยวิกฤต ดังนั้น ปัจจัยที่ส่งผลต่อความแตกต่างของอัตราการอยู่รอดและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยที่ถูกตีความโดยนักวิชาการบางท่านว่าเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันในการรักษาพยาบาลระหว่างสองสิทธิจึงไม่เป็นความจริง ที่กังวลคือ การวิเคราะห์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและการนำผลการวิจัยไปตีความ อธิบายสาเหตุ อย่างไม่รอบด้านครบทุกมิติ ทั้งยังมีการรีบร้อนนำไปขยายความต่อ ถือเป็นเรื่องที่อันตราย เพราะจะทำให้สังคมสับสนอาจเกิดความเสียหายต่อระบบสุขภาพโดยรวม และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงสังคมรับฟังข้อมูลอย่างรอบด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น