xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เดือดเปิดโปงวิจัย "บัตรทอง" ตายสูง แจงกำหนดแนวทางรักษาผ่านหมอเชี่ยวชาญแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช.เดือดเปิดโปงงานวิจัย สิทธิบัตรทองตายสุงกว่า ขรก. ชี้ทีดีอาร์ไอย้ำชัดแล้ว ฐานข้อมูลต่างกัน เปรียบเทียบกันไม่ได้ เผยยอมรับทุกการวิพากษ์วิจารณ์แต่ขอบยหลักความเป็นจริง ยันไม่ใช่ซื้อยาเหมาโหล แต่ซื้อในราคาขายส่ง ได้ยาตัวเดิมราคาถูกลง แจงแนวทางการรักษากำหนดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้จำกัดแนวทางการรักษา

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งานวิจัยของทีดีอาร์ไอ เรื่อง ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อคกีเฟลเลอร์ และ สปสช. ที่มีการนำเสนอกันอยู่ขณะนี้ มีการตีความการวิจัยเกินไปกว่าผลของการวิจัยจะตอบได้ และมีการสร้างความเข้าใจที่ผิด เช่น เนื้อหารายงานวิจัยฉบับเต็มได้มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของทีดีอาร์ไอตั้งแต่ มี.ค. 2558 ไม่ใช่เป็นเรื่องของความลับแต่อย่างใด ส่วนผลจากงานวิจัยบางส่วนที่บอกว่า ผู้ป่วยบัตรทองใน 5 โรคเรื้อรังมีอัตราเสียชีวิตที่สูงกว่าสิทธิข้าราชการนั้น ทางทีดีอาร์ไอ ก็ออกมาชี้แจงแล้วแล้วว่า ไม่สามารถนำผลวิจัยตรงนี้ไปสรุปว่าเป็นเพราะเกิดจากคุณภาพการรักษาพยาบาลที่ต่างกันได้ เพราะโจทย์ของการวิจัยคือการศึกษาความต่างของค่ารักษาพยาบาลระหว่าง 2 สิทธิ ดังนั้น จึงไม่ได้ควบคุมตัวแปรอื่นๆ

"ทีดีอาร์ไอระบุชัดเจนว่า การตีความดังกล่าวไปไกลเกินกว่าผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอและข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ เพราะการจะสรุปว่าอัตราการเสียชีวิตสูงผิดปกติ หรือสูงเกินไปนั้น จำเป็นจะต้องเปรียบเทียบข้อมูลผู้ป่วย 2 ชุดที่มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกันมาก แต่งานวิจัยของทีดีอาร์ไอนี้ ไม่ได้มีการจัดเก็บข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับผู้ป่วย เช่น ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของผู้ป่วย" โฆษก สปสช. กล่าวและว่า สปสช.ยอมรับทุกการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ขอให้อยู่ในหลักวิชาการและข้อมูลที่เป็นจริง การที่ให้ข้อมูลผิดๆ กับสังคมตลอดเวลา ไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี สวนทางกับที่บอกว่ามีความปรารถนาดี แต่กลับนำมูลไม่เป็นความจริงมานำเสนอ รวมถึงเรื่องการใช้คำ เช่น ซื้อยาแบบเหมาโหล การจำกัดวิธีการรักษา ก็เป็นการใช้คำเชิงลบอย่างมาก เหมาโหลคือได้ของดีบ้างไม่ดีบ้างเอามาคละกัน แต่ความจริงไม่ใช่ เรามีเกณฑ์มาตรฐานการซื้อ และซื้อในราคาขายส่งต่างหาก ซึ่งทำให้ได้ยาตัวเดิมแต่มีราคาถูกลง

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า เรื่องจำกัดวิธีการรักษาก็เช่นกัน ถ้าเป็นแพทย์จริงๆ ก็ต้องรู้ว่าการรักษานั้นมีแนวทางการปฏิบัติมาตรฐานเพื่อการวินิจฉัยและการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งกำหนดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ แน่นอนว่า สปสช.ไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ แต่การจะกำหนดแนวทางนี้ได้ ต้องผ่านแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มนี้ ซึ่งเรื่องนี้ สปสช.กำลังทำชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องต่อไป

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น