เวทีสัมมนา สนช. เรื่อง “มาตรฐานค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน” ทีดีอาร์ไอเผยผลวิจัย ระบุไทยเป็นเมดิคัล ฮับ ทำโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว ค่าบริการแพงกว่าโรงพยาบาลรัฐสูงถึง 7 เท่า แนวโน้มปีนี้ถ่างกันมากขึ้น ด้านนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน บอกที่แพงเพราะยุโรปรับรองคุณภาพ อ้างค่ายาและค่าบริการไม่แพง แต่ตอบโจทย์เศรษฐกิจเสรี ส่วน สนช. แนะตั้งคณะกรรมการกำกับ พร้อมส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐ
วันนี้ (23 มิ.ย.) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกับคณะอนุกรรมาธิการศึกษามาตรฐานค่ารักษาพยาบาลของสถานพยาบาล ที่มี นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ สมาชิก สนช. เป็นประธานคณะอนุกรรมาธิการ ได้จัดสัมมนาเรื่อง “มาตรฐานค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน” โดย ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ. ด้านนโยบายบายด้านการแข่งขันทางการค้าและคุมครองผู้บริโภค ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจรายสาขา สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้ชี้ถึงผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการที่ไทยเป็นเมดิคัล ฮับ ว่า ผลสรุปการศึกษาวิจัยนี้ระบุว่า การศึกษาในปี 2552 อัตราค่าบริการของรัฐแตกต่างกันมาก โดยโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว 2.5 - 7 เท่า เอกชนแสวงหาผลกำไร 1.4 - 4 เท่า มูลนิธิ 0.5 - 2.32 เท่า ส่วนในปี 2558 ค่ารักษาพยาบาลระหว่างรัฐและโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว ถ่างมากขึ้นโดยเฉพาะการรักษาโรคต้อกระจก และไส้ติ่ง โดยสรุปโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว แพงที่สุด รองลงเป็นเอกชนหัวเมืองและมูลนิธิ ทั้งนี้ สรุปว่า ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชน 5 ดาว ที่เกี่ยวโยงกับเมดิคัล ฮับ มีผลให้ค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ และมีอัตราการเพิ่มที่สูงขึ้น
นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ศักยภาพของโรงพยาบาลเอกชนไทย โดยในปี 2558 ได้รับการจัดให้เป็นโรงพยาบาลที่รักษาดีที่สุดในอันดับ 9 ของโลก มีมาตรฐานระดับสากล และผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพระดับสากลของกลุ่มประเทศยุโรป อย่างไรก็ตาม เหตุที่ทำให้ค่าบริการมีความแตกต่าง คือ ต้นทุนและกลไกการแข่งขันธุรกิจในตลาดเสรี การควบคุมมาตรฐาน การพัฒนาระบบบริการ และระบบบริหารบุคคลากร อุปกรณ์ที่ทันสมัย กระบวนการวินิจฉัยและรักษาที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง พื้นที่บริการที่ไม่แออัด มีสภาพที่เอื้อต่อการบำบัดรักษา ทั้งนี้ มีต้นทุน และกระบวนการบริหารจัดการยาที่มีผลต่อต่อต้นทุนทางตรงของระบบยาโรงพยาบาลเอกชน โดยสรุปค่ายาและค่าบริการ ถือว่าไม่แพง แต่เป็นการสะท้อนต้นทุน เป็นการตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจเสรีอันจะสนับสนุนศักยภาพการดูแลสุขภาพของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันไปสู้ระดับสากลในอนาคต
ด้าน นายวรพล โสคติยานุรักษ์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ปัญหาที่พูดกันมากสำหรับโรงพยาบาลของเอกชน คือ ค่ารักษาพยาบาล ซึ่งมีหลายองค์ประกอบ โดยค่ายาถือเป็นองค์ประกอบใหญ่ นอกจากค่าบริการทางแพทย์ ค่าแพทย์และบุคคลากร ซึ่งราคาไม่แพงมากนักเมื่อเทียบค่ายา โดยมีสิ่งที่น่ากังวลคือ มีการรักษาพยาบาลที่เกินความจำเป็นด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคิดว่าสภาวิชาชีพโรงพยาบาลเอกชนจะต้องควบคุมดูแลกันเอง ว่าอย่างไรจึงจะเหมาะสม ทั้งนี้ ตนเห็นว่า ควรมีคณะกรรมการกำกับ ส่งเสริมกิจการทางการแพทย์ มากำกับดูแล เพื่อให้เป็นระบบเดียวกัน ทั้งค่ายา ค่ารักษาพยาบาล รวมถึงธุรกิจใกล้เคียง นอกจากนี้ ควรส่งเสริมโรงพยาบาลรัฐให้มีความเข้มแข็งขึ้น โดยพัฒนาให้โรงพยาลมีความเป็นอิสระมากขึ้น ตลอดจนโรงพยาบาลที่โรงเรียนแพทย์ควรจะพัฒนาให้มีศักยภาพทัดเทียมกับโรงพยาบาลเอกชน เชื่อว่า จะเป็นกลไกสร้างหรือเป็นตัวกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลได้ แต่หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ที่สุดรัฐก็คงต้องออกมาตรการบังคับควบคุมราคา โดยเฉพาะต้องปรับปรุง พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าโดยแก้ไขไม่ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งชี้นำราคาได้