"รัชตะ" เตรียมจัดเวทีถก "บัตรทอง" ทำคนตายสูงจริงหรือมั่ว หลังนักวิชาการอ้างผลวิจัยทีดีอาร์ไอผู้ป่วยบัตรทองตายสูงกว่า ขรก. บอกดูผลสรุปอย่างเดียวไม่ได้ ระบุพร้อมปรับหากมีจุดไหนที่บกพร่อง
วันนี้ (25 มิ.ย.) ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงกรณีผลวิจัยของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าสิทธิข้าราชการ ใน 5 โรค มากกว่าถึง 70% โดย ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) และ ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยผลวิจัยนี้และเรียกร้องให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยอมรับและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ว่า งานวิจัยหรือผลศึกษาทางวิชาการต่างๆ ต้องดูอย่างละเอียด ไม่ใช่ดูแค่ผลสรุปเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาถึงขั้นตอน วิธีการทำ และผลการวิจัยนั้นด้วย ว่า มีเงื่อนไขอย่างไร มีการศึกษา ทำอย่างไรบ้าง เท่าที่ทราบผลงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ ต้องพิจารณาทั้งฉบับ ไม่ใช่แค่หยิบยกบางจุด เนื่องจากทีดีอาร์ไอศึกษาในแต่ละปี ซึ่งอัตราการเสียชีวิตก็เริ่มลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น ต้องมาหารือกันเพื่อให้ได้ข้อสรุป ไม่เช่นนั้นจะเกิดความเข้าใจผิดต่อกัน
“การมีระบบหลักประกันสุขภาพฯ ถือเป็นเรื่องดี เพราะทำให้คนเข้าถึงบริการมากขึ้น ผมคิดว่ามีย่อมดีกว่า ไม่มี เพียงแต่จุดไหนที่ยังมีข้อบกพร่องก็ต้องมาดูในรายละเอียด และมาปรับปรุงกันไป ส่วนเรื่องนี้ที่ยังมีข้อเห็นต่างว่า อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยบัตรทองสูงหรือไม่นั้น ในสัปดาห์หน้าจะมีการจัดเวทีเสวนาเรื่องนี้ โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ มาพูดคุย” ศ.นพ.รัชตะ กล่าวและว่า ระบบหลักประกันฯ ของไทย ที่ผ่านมาต่างชาติต่างให้การยอมรับและชื่นชม ยกเป็นตัวอย่างที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงระบบสุขภาพ ทั้งองค์การอนามัยโลกก็ชื่นชมตลอด
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า อย่างล่าสุด สธ. ได้ร่วมกับองค์การอนามัยโลก และ Asia Pacific Observatory on Health Systems and Policies (APO) จัดทำหนังสือทบทวนระบบสาธารณสุขไทยขึ้นฉบับภาษาอังกฤษ โดยจะมีแปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้ประชาชนที่สนใจศึกษาเชิงวิชาการด้วย ซึ่งหนังสือเล่มนี้เรียบเรียงและเขียนโดยผู้ทรงคุณวุฒิหกท่านในระบบสาธารณสุขไทย ทั้งจากในและนอก สธ. มีนพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เป็นบรรณาธิการ ซึ่งจากการรวบรวมการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทย พบว่าก้าวหน้าขึ้น เห็นได้จากรายจ่ายด้านสุขภาพที่มาจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 63 เป็นร้อยละ 77 ของรายจ่ายสุขภาพทั้งหมด แต่รายจ่ายสุขภาพที่ประชาชนจ่ายเองลดลง เพราะมีระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งทิศทางถือว่าดีขึ้น
สำหรับหนังสือดังกล่าวเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย โครงสร้างและการบริบาลระบบสาธารณสุข การเงินการคลังระบบสุขภาพ กำลังคนด้านสุขภาพ การจัดการบริการสุขภาพ การปฏิรูประบบสุขภาพ และการประเมินระบบสุขภาพ
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่