xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.แจงจ่ายค่าผ่าตัด “ไส้ติ่งอักเสบ-แตก” ต่างกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สปสช. ยันจ่ายค่ารักษาผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ - แตก ให้ รพ. ราคาต่างกัน ไม่ได้จ่ายอัตราเดียวกัน ระบุข้อมูลปี 57 ค่าเฉลี่ยจ่ายผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ 10,057.57 บาทต่อครั้ง ส่วนค่าเฉลี่ยจ่ายผ่าตัดไส้ติ่งแตก 13,536.34 บาทต่อครั้ง พร้อมเผยวิธีคำนวณการจ่ายเงินผู้ป่วย

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากกรณีที่ นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สปสช. จ่ายเงินค่ารักษาผู้ป่วยไส้ติ่งอักเสบ และ ไส้ติ่งแตกในราคาเดียวกัน เท่ากับว่า ยิ่งรักษามากยิ่งขาดทุนนั้น สปสช. ขอชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง มีความเข้าใจผิดไปอย่างมาก เข้าใจว่า อาจจะเป็นเพราะไม่รู้ระบบการเบิกจ่ายของ สปสช. ที่ใช้รูปแบบจ่ายเงินผู้ป่วยใน (IPD) ในรูปแบบของการวินิจฉัยกลุ่มโรคร่วม (DRGs) ผ่านการคำนวณน้ำหนักสัมพัทธ์ (Relative Weight) ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ยิ่งรักษามาก มีความซับซ้อนของโรคมาก ก็มีอัตราจ่ายมากขึ้น ไม่ได้จ่ายตามอัตราขั้นต่ำอย่างที่ นพ.อภิวัฒน์ เข้าใจผิด

ยกตัวอย่างการรักษาผู้ป่วยโรคไส้ติ่งอักเสบ และผู้ป่วยโรคไส้ติ่งแตก ข้อมูลในปี 2557 มีจำนวนจ่ายการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ 40,449 ครั้ง จำนวน 406,818,618 บาท คิดเป็นค่าเฉลี่ยวันนอน 3.06 วันต่อครั้ง ค่าเฉลี่ย RW 1.2142 ต่อครั้ง ค่าเฉลี่ยจ่าย 10,057.57 บาทต่อครั้ง ขณะที่อัตราจ่ายผ่าตัดไส้ติ่งแตก 29,012 ครั้ง จำนวน 392,716,385 บาท คิดเป็นค่าเฉลี่ยวันนอน 4.03 วันต่อครั้ง ค่าเฉลี่ย RW 1.6340 ต่อครั้ง ค่าเฉลี่ยจ่าย 13,536.34 บาทต่อครั้ง

“ข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า อัตราการจ่ายการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ และการผ่าตัดไส้ติ่งแตก ต่างกัน ซึ่งเป็นการคำนวณตามน้ำหนักการรักษาของโรค ไส้ติ่งแตกมีอัตราจ่ายมากกว่า เพราะมีการรักษาที่มากขึ้น ไม่ได้จ่ายในอัตราเดียวอย่างที่เข้าใจผิดกันอยู่ในขณะนี้ สปสช.ขอชี้แจงเพื่อให้เข้าใจถูกต้องด้วย” โฆษก สปสช. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น