xs
xsm
sm
md
lg

แจงไม่โอนงบรายหัวบัตรทองทั้งก้อนให้ รพ.เพื่อช่วย ปชช.เข้าถึงบริการ รพ.ไม่เสี่ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปสช. แจงไม่โอนงบรายหัวบัตรทองทั้งก้อนให้ รพ. เพื่อลดความเสี่ยง ชี้ 3 ปีแรกเริ่มหลักประกันฯ ใช้โอนงบทั้งก้อนให้ รพ. พบ ปชช. ไม่ได้รับบริการที่จำเป็น เผยประกันสังคมทำเหมือนกัน คือแยกงบค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผู้ประกันตนได้เข้าถึงการรักษามากขึ้น เชื่อ สธ. เข้าใจเรื่องนี้ดี

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กรณี นพ.สุทัศน์ ศรีวิไล ผอ.รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ ในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) บอกว่า สปสช. ควรโอนงบรายหัวลงไปทั้งก้อนให้โรงพยาบาลบริหารเองนั้น ไม่ใช่เข้ามากำหนดราคาค่าบริการว่าต้องทำอะไรกี่บาท ขอชี้แจงว่า สปสช. ต้องมีการกำหนดว่า มีค่าอะไรบ้างนั้นเพื่อปกป้องประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพที่จำเป็น ได้รักษาโดยไม่มีอุปสรรคการเงิน ไม่ใช่ สปสช. ไม่เชื่อว่าโรงพยาบาลจะไม่ให้บริการผู้ป่วย แต่การของบประมาณจากสำนักงบประมาณ จะต้องมีการกำหนดรายละเอียดทุกครั้งว่า งบประมาณที่เป็นเงินของแผ่นดินนั้นถูกใช้ทำอะไรบ้าง และเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างไร การไม่โอนงบเหมาจ่ายรายหัวทั้งก้อนไป แล้วให้โรงพยาบาลบริหารเอง เพื่อให้โรงพยาบาลไม่ต้องแบกรับภาระ กรณีที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรคค่าใช้จ่ายสูง แต่เอามาตั้งเป็นกองกลางแยกให้เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องของการก้าวก่ายหน่วยบริการ

“ช่วง 3 ปีแรก สปสช. เคยใช้วิธีการนี้คือโอนงบทั้งก้อนไปที่ รพ. แต่ปรากฏว่าทำให้ประชาชนไม่ได้รับบริการที่จำเป็น โดยเฉพาะในโรคค่าใช้จ่ายสูง เพราะ รพ. แห่งเดียวแบกรับความเสี่ยงนี้ไม่ได้ ภายหลังต่อมาจึงได้แยกงบเหมาจ่ายรายหัวเป็นรายหมวดในปัจจุบัน ซึ่งประกันสังคมก็ดำเนินการตามวิธีนี้อยู่ ปัจจุบันก็มีการแยกงบโรคค่าใช้จ่ายสูง เพื่อให้ผู้ประกันตนและรพ.มั่นใจว่า เมื่อรักษาผู้ป่วยโรคนี้แล้วจะมีเงินให้” โฆษก สปสช. กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สาเหตุที่ สปสช. ต้องเป็นผู้กำหนดเองว่างบเหมาจ่ายรายหัวนั้นจะถูกใช้เพื่ออะไรบ้าง ก็เป็นหลักการแยกผู้ซื้อบริการและผู้ให้บริการ ซึ่งฝั่งผู้ซื้อบริการ ก็คือ บอร์ด สปสช. ทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนกำหนดว่าเงินเท่านี้จะมีบริการอะไรรองรับประชาชนบ้าง แต่หากผู้ให้บริการกำหนดเองว่าเงินที่มีอยู่จะรักษาผู้ป่วยอย่างไร ก็จะทำลายหลักการนี้ และถอยหลังกลับไปเหมือนเดิม ซึ่งไม่มีหลักประกันว่าจะทำให้ประชาชนได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจริง

“เชื่อว่า สธ. เข้าใจประเด็นนี้ดี เพราะในกองทุนรักษาคนไร้สถานะนั้น สธ. ก็แบ่งงบเหมาจ่ายรายหัวเหมือนกัน ไม่ได้โอนเงินทั้งก้อนไปที่ รพ. แต่กันงบส่วนหนึ่งไว้ที่กองกลางเพื่อใช้สำหรับโรคค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งก็เป็นตามหลักการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา และไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เพียงผู้เดียว” โฆษก สปสช. กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น