"โครงการจีแพป" ต้นแบบความร่วมมือรัฐ-เอกชน หนุนผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว CML สิทธิบัตรทองเข้าถึงการรักษาด้วยยาอิมมาตินิบที่มีราคาแพง ชี้ต้องกินยาตลอดชีวิต เผยความหวังใหม่ รักษาด้วย "ยานิโลตินิบ" ตั้งแต่ต้น มีโอกาสหยุดยาได้
วันนี้ (7 พ.ค.) ศ.พญ.แสงสุรีย์ จูฑา ประธานกรรมการที่ปรึกษาชมรมผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย กล่าวในการแถลงข่าว "ขอบคุณผู้มีส่วนช่วยเหลือการเข้าถึงการรักษาด้วยยาอิมมาตินิบ" ว่า โครงการจีแพป (GIPAP) เป็นโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ (CML) ให้ได้เข้าถึงการรักษา เนื่องจากยาอิมมาตินิบที่ใช้รักษานั้นมีราคาแพง อยู่ที่เม็ดละ 1,000 บาท ผู้ป่วยต้องกินยาวันละ 4 เม็ด เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายอยู่ที่ปีละ 1.5 ล้านบาทต่อคน ซึ่งโครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และบริษัทยาเอกชนที่บริจาคยาอิมมาตินิบให้กับผู้ป่วยในโครงการฟรี ซึ่งรับเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาทรักษาทุกโรค โดยดำเนินการมาแล้ว 12 ปี มีผู้ป่วยอยู่ในโครงการประมาณ 4,000 คน
ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วย CML รายใหม่ คาดว่ามีประมาณ 350-500 คนต่อปี เป็นผู้ป่วยในกลุ่มบัตรทองและลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเฉลี่ยปีละ 220 ราย ซึ่งการเข้าร่วมโครงการเพื่อเข้าถึงยารักษานั้นจะต้องผ่านการตรวจรักษาและสั่งใช้ยาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาหรือมะเร็งวิทยา ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่กินยาอิมมาตินิบจะต้องกินยาไปตลอดชีวิต เพราะมีผลการศึกษาว่าแม้จะกินยาดังกล่าวจนไม่ปรากฏอาการของโรคมาตลอด 5 ปี แต่เมื่อหยุดยาพบว่า 60% จะพบว่าโรคกลับมา อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องกินยาไปตลอดชีวิต และมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะการสนับสนุนยาในโครงการจีแพปไม่ได้มีการจำกัดว่าจะให้ปีละกี่คนแม้จะมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นทุกปีก็ไม่เป็นปัญหา สำหรับกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการสามารถเบิกจ่ายได้ผ่านสำนักงานประกันสังคมและกรมบัญชีกลาง
"อย่างไรก็ตาม ยังมีการศึกษาพบว่า หากผู้ป่วย CML เริ่มต้นรักษาด้วยยานิโลตินิบ ซึ่งเป็นสูตรยาสำหรับผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาอิมมาตินิบไม่ได้ผลนั้น มีโอกาสที่จะหยุดยาได้ เพราะเมื่อรับยานิโลตินิบอย่างต่อเนื่องจนไม่ปรากฏอาการของโรค 5 ปีแล้วหยุดยา พบว่า มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่โรคกลับมา ส่วนความหวังที่จะให้ผู้ป่วยรักษาด้วยยานิโลตินิบเลยนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะโครงการจีแพปครอบคลุมเพียงยาอิมมตินิบ หากให้ สปสช.ซื้อยานิโลตินิบทั้งหมดก็คงเป็นเรื่องลำบาก" ศ.พญ.แสงสุรีย์ กล่าว
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ยาอิมมาตินิบเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2545 แต่ถือว่ายังเป็นยาบัญชี จ 2 หรือยาที่มีราคาแพง ทำให้ช่วงแรกผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมเข้าไม่ถึงการรักษา แต่ภายหลังประกันสังคมมีการแยกงบยาราคาแพงออกมาโดยเฉพาะทำให้ปัจจุบันสามารถเบิกได้ การดูแลผู้ป่วย CML จึงครอบคุลมทุกสิทธิการรักษา สำหรับโครงการจีแพปถือเป็นโมเดลต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งในอนาคตก็คงมีความพยายามในการหาความร่วมมืออีก เช่น ยามะเร็งเต้านม ซึ่งต้องได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการก่อนว่าจำเป็นต้องได้รับยา ซึ่งค่าตรวจแล็บนั้นมีราคาแพงประมาณ 8,000 บาท ก็มีการร่วมมือกับเอกชนในการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการตรวจแล็บ เป็นต้น
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่