วิจัยสิทธิการรักษาพบ ประกันสังคมห่วยสุด จี้ปฏิรูปเรื่องสิทธิประโยชน์ อย่ามุ่งแต่เรื่องลงทุน เผยจัดการเงินรายหัวให้โรงพยาบาลบริหารความเสี่ยงเอง ส่งผล รพ. เอกชน เลือกบริการขั้นต่ำสุดของมาตรฐาน แนะเปิดการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนร่วมประชาพิจารณ์
นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เมธีวิจัยอาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากการที่โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ทำการวิจัยในด้านสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลกว่า 30 - 40 เรื่อง พบว่า ผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมมีสิทธิด้อยกว่ากองทุนสุขภาพอื่นในประเทศทั้งสิ้น ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งขณะนี้มีการตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางปฏิรูปกองทุนประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาทนั้น ถือเป็นเรื่องดีในการให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกองทุน แต่การปฏิรูปกองทุนนั้น ควรทำในหลายๆ ด้าน ไม่เฉพาะแต่การทำให้เกิดความโปร่งใส ปลอดการแทรกแซงจากการเมือง หรือ การใช้เงินลงทุนให้มั่นคง แต่ควรให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพและสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้มากกว่านี้ เพราะเป็นเรื่องสำคัญของผู้ประกันตนแต่กลับถูกละเลยทำให้ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้าถึงสิทธิของตนเองได้
นพ.ยศ กล่าวว่า ปัจจุบันการบริหารจัดการกองทุน ในแง่การรักษาพยาบาล ประกันสังคมจะใช้วิธีคำนวณเงินรายหัว และให้โรงพยาบาลไปบริหารความเสี่ยงทั้งหมดเองครั้งเดียว โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบหรือติดตามว่า เงินดังกล่าวมีการนำไปใช้เพื่อให้บริการผู้ประกันตนได้อย่างมีคุณภาพหรือไม่ ซึ่งจากที่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบทำให้โรงพยาบาล โดยเฉพาะภาคเอกชน ไม่มีแรงจูงใจในการพัฒนาบริการในกลุ่มสิทธิประกันสังคม โดยให้บริการขั้นต่ำสุดของมาตรฐาน เช่น ยาต้องไม่ต่ำกว่าบัญชียาหลัก ก็จ่ายยาแต่เพียงบัญชียาหลักแห่งชาติ ทั้งที่จริงแล้วสามารถรับยาที่มากไปกว่ายาบัญชียาหลักฯได้ เพื่อประหยัดต้นทุน และยาบางรายการก็ได้รับสิทธิน้อยกว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งต้องใช้ยาเม็ดละแสนกว่าบาท ซึ่งบัตรทอง จะได้ยาฟรี สิทธิข้าราชการสามารถเบิกได้ ในขณะที่ประกันสังคมจะไม่ได้รับ เป็นต้น ซึ่งการบริหารจัดการแบบนี้ ยังทำให้สถานพยาบาลไม่จัดบริการอย่างอื่น โดยเฉพาะการตรวจวินิจฉัยโรค การป้องกันส่งเสริมโรค ทั้งที่จำเป็น
“ กองทุนประกันสังคม มีคณะกรรมการการแพทย์เพียงคณะเดียวที่ดูเรื่องสิทธิประโยชน์ โดยไม่มีการเปิดให้ภาคส่วนอื่นมีส่วนร่วมหรือทำประชาพิจารณ์ ในขณะที่บัตรทอง มีคณะอนุกรรมการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ ซึ่งเปิดรับฟังความคิดเห็น รวมทั้งแต่ละปียังมีการสำรวจความพึงพอใจของประชาชน หน่วยบริการ และมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันประกันสังคม ถือเป็นกองทุนที่มีการพัฒนาสิทธิประโยชน์น้อยที่สุด โดยประกันสังคม ยังไม่เคยมีข้อมูลว่า ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิตนเองได้เท่าใด ได้รับบริการที่พึงพอใจ หรือ มีคุณภาพหรือไม่อีกด้วย ทั้งนี้ การมีคณะกรรมการปฏิรูปกองทุนฯ ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ขณะนี้วัตถุประสงค์การปฏิรูปมุ่งไปเพียงเรื่องการลงทุน การนำเงินกองทุนไปบริหารเท่านั้น จึงอยากให้มีการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ เพิ่มคุณภาพ และตรวจสอบคุณภาพด้วย ” นพ.ยศ กล่าว ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่