xs
xsm
sm
md
lg

“แกงเลียง” เลิศ! ช่วยเซลล์มะเร็งฝ่อตายธรรมชาติ ย้ำกินป้องกัน ไม่แนะกินรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

แกงเลียง
นักโภชนาการเผยผลวิจัย สารสกัด “แกงเลียง” ช่วยเซลล์มะเร็งฝ่อตายแบบธรรมชาติ ผลข้างเคียงเซลล์ปกติต่ำ ลดการอักเสบของเซลล์ ช่วยลดเซลล์ผิดปกติในหนูทดลองลง ย้ำกินเพื่อป้องกัน ไม่แนะนำกินเพื่อรักษา อย่าหลงเชื่อโฆษณา เตือนกินอาหารหลากหลาย หมุนเวียน ชี้กินซ้ำ ๆ เป็นโทษ กินอย่างมีสติ

ผศ.ดร.สมศรี เจริญเกียรติกุล อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกระแสข่าวในโลกออนไลน์ที่มีการส่งต่อข้อมูล “แกงเลียง” สามารถต้านมะเร็งได้ ว่า จากการศึกษาอาหารไทย 4 ชนิด คือ แกงป่า แกงส้ม แกงเหลือง และแกงเลียง เฉพาะส่วนที่เป็นพริกแกง ซึ่งได้ทำเป็นสารสกัดเพื่อทดสอบความสามารถในการต้านเซลล์มะเร็ง โดยทำการทดลองในเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว เปรียบเทียบกับการการเลี้ยงเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวตามปกติ และการให้ยาเคมีบำบัด เพื่อดูว่ามีเซลล์มะเร็งรอดชีวิตกี่เปอร์เซ็นต์ ตายกี่เปอร์เซ็นต์ และการตายของเซลล์มะเร็งนั้นเป็นการตายแบบธรรมชาติ คือ ค่อย ๆ ฝ่อ แบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเซลล์ตายแบบไม่เป็นธรรมชาติ คือ เซลล์บวมแตก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์โดยรอบด้วย

ผศ.ดร.สมศรี กล่าวว่า ผลการศึกษาพบว่า หากเลี้ยงเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวตามปกติ อัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งอยู่ที่ 93.1% เซลล์มะเร็งตายแบบธรรมชาติ 5.9% เซลล์มะเร็งตายผิดธรรมชาติ 1% ส่วนการให้ยาเคมีบำบัด อัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งอยู่ที่ 16% ตายธรรมชาติ 72.5% ตายผิดธรรมชาติ 11.38% สำหรับแกงป่า อัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็งอยู่ที่ 17.25% ตายธรรมชาติ 38% ตายผิดธรรมชาติ 43.93% แกงส้ม อัตราการรอดชีวิตของเซลล์มะเร็ง 29% ตายธรรมชาติ 43% ตายผิดธรรมชาติ 27% แกงเหลือง อัตรารอดชีวิตเซลล์มะเร็ง 31% ตายธรรมชาติ 22% ตายผิดธรรมชาติ 46.13% และแกงเลียง อัตรารอดชีวิตเซลล์มะเร็ง 57% ตายธรรมขาติ 38% และตายผิดธรรมชาติ 3.78%

จากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า ในกลุ่มแกงทั้ง 4 ชนิด ที่มีผลต่อการตายของเซลล์มะเร็งแบบเป็นธรรมชาติที่สูงใกล้เคียงกัน คือ แกงป่า แกงส้ม และแกงเลียง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการตายของเซลล์มะเร็งแบบผิดธรรมชาติ จะพบว่า แกงเลียงก่อให้เกิดผลกระทบตรงนี้น้อยที่สุด สำหรับตัวแกงเลียงนั้น ตามสูตรต้นตำรับ คือ จะมีส่วนประกอบของหอมแดง พริกไทย และกะปิ โดยในตัวของหอมแดงนั้นจะมีสารพฤกษเคมี คือ ฟลาโวนอยด์สูงมาก มีคุณสมบัติช่วยเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ต้านการอักเสบ ถือว่ามีประโยชน์มากแต่คนไม่นิยมรับประทาน อย่างไรก็ตาม หอมแดงแม้มีประโยชน์มากแต่กินมากก็ไม่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะการกินแบบสด ๆ เพราะมีส่วนทำให้ระบบเนื้อเยื่อต่าง ๆ ระคายเคือง” ผศ.ดร.สมศรี กล่าว

ผศ.ดร.สมศรี กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังทำการศึกษาแกงเลียงแบบสำเร็จรูปแล้ว ที่มีส่วนผสมของบวบ ตำลึง ฟักทอง และใบแมงลัก มาสกัดเป็นผง เพื่อศึกษาการลดการอักเสบของเซลล์เม็ดเลือดขาว พบว่า เมื่อใส่สารกระตุ้นการอักเสบให้เซลล์เม็ดเลือดขาวพบว่ามีค่าการอักเสบอยู่ที่ 12.3 แต่เมื่อให้สารสกัดจากแกงเลียงปริมาณ 60 ส่วน ช่วยลดการอักเสบลงมาเหลือที่ระดับ 9.3 เมื่อเพิ่มปริมาณเป็น 120 ส่วน ลดการอักเสบลงมาได้ที่ระดับ 7.3 และปริมาณ 240 ส่วน ลดการอักเสบลงเหลือที่ระดับ 3.9 แต่เมื่อลองให้สารสกัดแกงเลียงกับเซลล์ที่ไม่มีการอักเสบพบว่าไม่มีผลข้างเคียง ส่วนการทดลองหาสารต้านความผิดปกติของลำไส้ใหญ่มะเร็งในระยะเริ่มต้นในหนูทดลอง โดยแบ่งหนูทดลองเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 10 - 11 ตัว พบว่า กลุ่มหนูที่กินอาหารตามปกติ และกลุ่มที่ป้อนสารสกัดแกงเลียง โดยไม่ให้สารก่อมะเร็ง มีความปกติดี ส่วนกลุ่มหนูที่ให้กินอาหารปกติ และฉีดสารก่อมะเร็ง พบเซลล์ผิดปกติมากถึง 260 เซลล์ กลุ่มหนูที่ฉีดสารก่อมะเร็ง และป้อนสารสกัดแกงเลียงปริมาณ 1 หน่วยบริโภคของ้ำหนักตัวหนู ลดเซลล์ผิดปกติลงได้ 45% และกลุ่มหนูที่ฉีดสารก่อมะเร็ง และป้อนสารสกัดจากแกงเลียงปริมาณ 2 หน่วยบริโภคฯ พบ เซลล์ผิดปกติลดลง 45%

แกงทั้ง 4 ชนิดมีประโยชน์ช่วยต้านการเกิดมะเร็งได้ อาจลดการขยายของเซลล์มะเร็งได้ ควรใช้ในแง่การป้องกันมากกว่าการรักษาโรค หากป่วยก็ควรรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันก่อน ส่วนงานวิจัยดังกล่าวทำขึ้นเพื่อให้เห็นภาพชัดเจน การโฆษณาโดยนำผลวิจัยไปอ้างอิงต้องระวัง เพราะคนที่มีปัญหาสุขภาพแล้วไม่เข้าใจ เมื่อกินไปแล้ว กินมาก ๆ ก็อาจส่งผลต่อการรักษาในแพทย์แผนปัจจุบันได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ หากจะกินควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้ การกินอาหารอะไรก็ตามขอให้กินอย่างมีสติ กินอาหารอย่างหลากหลาย แม้พิสูจน์แล้วว่าอาหารนั้นดี มีประโยชน์ ก็ไม่ควรกินซ้ำ ๆ ทุกวัน แต่ควรเปลี่ยนอาหาร กินหมุนเวียนไปเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลของอาหารตามที่ร่างกายควรได้รับ” ผศ.ดร.สมศรี กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


ผศ.ดร.สมศรี เจริญเกียรติกุล
แกงเลียง
แกงเหลือง
แกงเหลือง
กำลังโหลดความคิดเห็น