นศ. ปธพ.3 เผยผลวิเคราะห์บัตรทอง พบความเสี่ยงธรรมาภิบาลบริหาร 4 ส่วน ทั้งการจัดทำงบ การจัดสรรงบ องค์ประกอบบอร์ด สปสช. ความยั่งยืนการเงิน เสนอแก้กฎหมายแยกเงินเดือนออกจากงบรายหัว จัดสรรงบตามเขตสุขภาพสะท้อนต้นทุนจริง กำหนดความรับผิดชอบของบอร์ด และจัดระบบร่วมจ่ายสร้างความยั่งยืน
พญ.อภิรมย์ เวชภูติ นักศึกษาหลักสูตรธรรมาภิบาลทางการแพทย สําหรับผูบริหารระดับสูง รุนที่ 3 (ปธพ.3) ของแพทยสภา และสถาบันพระปกเกล้า นำเสนอการวิเคราะห์ผลการบริหารงบประมาณของ สปสช. ภายใต้กฎหมายว่าด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การมีส่วนร่วมของสถานพยาบาล และทิศทางที่เหมาะสมตามหลักการธรรมาภิบาล ในการประชุมวิชาการ 47 ปแพทยสภา ประจําป 2558 ว่า จากการวิเคราะห์ พบว่า โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) อาจมีความเสี่ยงต่อหลักธรรมาภิบาลของการบริหารจัดการงบประมาณกองทุนบัตรทอง ใน 4 ส่วน คือ 1. ความเสี่ยงของการจัดทำงบประมาณบัตรทอง อาทิ ข้อจำกัดด้านงบประมาณ การจัดทำงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับค่าใช้จ่าย จำนวนผู้รับบริการจริง และความจำเป็นหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย เป็นต้น 2. ความเสี่ยงของการจัดสรรงบประมาณกองทุนบัตรทอง ได้แก่ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายจริง เช่น จัดสรรตามจำนวนประชากรในพื้นที่ กำหนดเกณฑ์เบิกจ่ายที่มีเพดาน เป็นต้น จัดสรรงบไม่สอดคล้องกับความจำเป็นหลักในการดูแลรักษาผู้ป่วย อาทิ จัดสรรกองทุนเฉพาะโรค เป็นต้น การขาดกลไกการกำกับและตรวจสอบการใช้งบประมาณให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ การจัดสรรงบประมาณโดยไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนให้แก่สถานพยาบาล และการขาดการมีส่วนร่วมของสถานพยาบาล
3. ความเสี่ยงขององค์ประกอบ ศักยภาพ และการปฏิบัติงานของบอร์ด สปสช. จากการขาดหลักปฏิบัติในกระบวนการตัดสินใจของบอร์ด จากการขาดการระบุความรับผิดชอบของบอร์ดในกรณีที่มีความผิดพลาด เช่น ยกเลิกการร่วมจ่าย 30 บาท แต่ยังไม่มีการหาแนวทางร่วมจ่ายอื่นมาใช้ เป็นต้น และ 4. ความเสี่ยงของความยั่งยืนของระบบการเงินการคลังของบัตรทอง มีความเสี่ยงอันเกิดจากการใช้งบประมาณจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว ความเสี่ยงจากการขาดการส่งเสริมให้ผู้ป่วยดูแลรักษาสุขภาพตนเอง ความเสี่ยงจากการขาดการส่งเสริมให้ผู้ป่วยใช้บริการทางสาธารณสุขอย่างเหมาะสม
“มีข้อเสนอเชิงนโยบายและในระดับปฏิบัติการ 4 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดทำงบประมาณบัตรทองที่เหมาะสมและเป็นธรรม เช่น แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยนำเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว หรือจัดทำงบโดยกำหนดความต้องการด้านสุขภาพที่สะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง เป็นต้น 2. การจัดสรรงบประมาณให้สถานพยาบาลที่เอื้อต่อการให้บริการทางสาธารณสุขที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น บริการจัดการงบด้วยการจัดทำเขตสุขภาพ ควรสะท้อนต้นทุนค่าใช้จ่ายจริง 3. การเสริมสร้างธรรมาภิบาลการดำเนินงานของบอร์ด สปสช. ควรแก้ไข พ.ร.บ. โดยระบุแนวทางความรับผิดชอบของบอร์ด และ 4. การสร้างความยั่งยืนของระบบการเงินการคลังของระบบบัตรทอง จัดให้มีระบบร่วมจ่ายที่เหมาะสม ส่งเสริมประชาชนดูแลรักษาสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้มีระบบการใช้บริการให้สอดคล้องกับความรุนแรงของโรคและระดับของสถานพยาบาล” พญ.อภิรมย์ กล่าว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่