xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ “แรงงานเกษียณ” จ่ายสมทบคงสิทธิรักษาประกันสังคม ลดย้ายไป “บัตรทอง” แต่ไม่ผ่านพิจารณา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ที่ปรึกษาอนุฯปฏิรูปประกันสังคม สปช. เผยไอเดีย “แรงงานวัยเกษียณ” ใช้เงินบำนาญชราภาพจ่ายสมทบ คงสิทธิรักษาประกันสังคมอย่างต่างประเทศ ช่วยลดผู้ป่วยไหลเข้าระบบ “บัตรทอง” ลดภาระงบประมาณประเทศ ลดค่านิยมรักษาฟรี แต่ไม่ผ่านพิจารณาลงร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมใหม่ ด้านรองเลขาธิการ สปส. แจงลาออกจากงานแต่สมัครเป็นผู้ประกันตนเองได้ คงสิทธิรักษาเหมือนเดิม เว้นสิทธิว่างงาน

พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ ที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการปฏิรูปการแรงงาน ด้านประกันสังคม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า สิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมตามจริงแล้วควรจะดีที่สุดในจำนวน 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ เพราะผู้ประกันตนมีการจ่ายสมทบ ต่างจากสิทธิข้าราชการและหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ซึ่งงบประมาณทั้งหมดมาจากรัฐบาล ที่สำคัญ การจ่ายสมทบของประกันสังคม ถือเป็นการร่วมจ่ายก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลในอนาคต แต่ความเป็นจริง คือ เมื่อเกษียณแล้ว แม้จะได้รับสิทธิเงินบำนาญชราภาพ แต่สิทธิการรักษาพยาบาลจะโอนไปอยู่ในสิทธิบัตรทอง ทำให้ผู้ป่วยจากประกันสังคมไปกองรวมอยู่ในสิทธิบัตรทองก็จะยิ่งเป็นภาระทางด้านงบประมาณมากขึ้น ซึ่งในต่างประเทศสิทธิการรักษาพยาบาลของประกันสังคมเขาจะไม่ขาด เพราะสามารถนำเงินบำนาญชราภาพมาจ่ายสมทบต่อเนื่องไปได้

พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีระบบเช่นนี้ ซึ่งในการแก้ พ.ร.บ. ประกันสังคม ที่ผ่านมา ก็พยายามมีการเสนอในประเด็นนี้ ให้สามารถนำเงินบำนาญชราภาพมาจ่ายสมทบต่อ เพื่อรับสิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมต่อไปได้ เพื่อลดการไปใช้สิทธิการรักษาในบัตรทอง ลดค่านิยมว่าจะต้องรักษาฟรี แต่เรื่องดังกล่าวไม่ผ่านการพิจารณา ทำให้เรื่องนี้ไม่ผ่านในการบรรจุลงในร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมใหม่ ซึ่งผ่านการเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว

นายรักษ์ศักดิ์ โชติชัยสถิตย์ รองเลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ตนไม่เคยได้ยินข้อเสนอดังกล่าว ซึ่งถือเป็นแนวความคิดที่ดี แต่ข้อเท็จจริงคือแม้กฎหมายจะกำหนดอายุเกษียณของผู้ประกันตนไว้ที่อายุ 55 ปี แต่หากนายจ้างยังคงจ้างงานต่อไปเรื่อยๆ ลูกจ้างไม่คิดจะลาออก ก็ยังคงจ่ายเงินสมทบและอยู่ในสิทธิประกันสังคมต่อไปตามมาตรา 33 พ.ร.บ. ประกันสังคม แต่สำหรับคนทั่วไปที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมแล้ว ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคม ก็สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้ ซึ่งสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่จะได้รับคือเงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ เงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งแต่ละทางเลือกก็จะมีสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกันออกไป แต่สิทธิการรักษาพยาบาลยังคงเป็นบัตรทอง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่คนลาออกจากการจ้างงานในระบบประกันสังคมแล้ว จะยังสามารถคงสิทธิการรักษาประกันสังคมไว้ได้ โดยที่ไม่ต้องถูกโอนย้ายไปสิทธิบัตรทอง นายรักษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ความจริงแล้วสามารถทำได้ โดยสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 แทน หรือเป็นผู้ประกันตนเอง แต่จะต้องเคยเป็นผู้ประกันตนทั่วไปตามมาตรา 33 นำส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และต้องสมัครหลังลาออกจากงานไม่เกิน 6 เดือน จึงจะสามารถเป็นผู้ประกันตนเองได้ โดยต้องจ่ายเงินสมทบด้วยตัวเองเดือนละ 432 บาท ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกันตนทั่วไป คือ กรณีเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย สงเคราะห์บุตร และชราภาพ ยกเว้นกรณีเดียวคือ “ว่างงาน” ที่จะไม่ครอบคลุม โดยสิทธิจะคงอยู่ตราบเท่าที่ยังมีการจ่ายเงินสมทบ และจะสิ้นสุดสภาพผู้ประกันตนเองเมื่อเสียชีวิต หรือกลับไปเป็นผู้ประกันตนตามปกติ ไม่ส่งเงินสมทบ 3 เดือนติดต่อกัน หรือส่งเงินสมทบไม่ครบ 9 เดือน ในระยะเวลา 12 เดือน ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ประมาณ 10 ล้านคน ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีประมาณ 1 ล้านกว่าคน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น