คนไทยตรวจคัดกรองมะเร็งน้อย เหตุจ่ายเงินเอง อ้างไม่มีเวลา กลัวเจ็บ ย้ำควรตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง รู้เร็วรักษาได้เร็ว ระบุรัฐต้องร่วมจ่าย ช่วยคนใส่ใจตรวจคัดกรองมากขึ้น ยันตรวจคัดกรองไม่เจ็บ
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคมะเร็งที่เพิ่มขึ้น หลายคนกังวลว่าจะมีแนวทางป้องกันโรคมะเร็งชนิดต่างๆ ได้อย่างไร การป้องกันอาจไม่ได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็งได้ โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น บริโภคผักและผลไม้ให้ได้ครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ สิ่งสำคัญที่ต้องทำควบคู่ คือ การตรวจคัดกรองมะเร็ง แต่หลายคนมักมีเหตุผลว่าไม่มีเวลา กลัวสิ้นเปลือง หรือกลัวเจ็บ จริงๆ แล้วหากตรวจพบโรคเร็วก็จะรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้น อย่าบอกว่าไม่มีเวลา เพราะสุขภาพเป็นสิ่งรอไม่ได้ หรือกลัวสิ้นเปลือง เพราะหลายอย่างสามารถหาซื้อได้ ขณะที่กลัวเจ็บนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งไม่มีความเจ็บปวดเลย
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนกลุ่มหนึ่งมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจคัดกรองมะเร็ง นพ.วีรวุฒิกล่าวว่า นี่คือจุดอ่อนของระบบสุขภาพของไทย เพราะแม้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง จะให้ผู้มีสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบแปปสเมียร์ได้ฟรี แต่มากกว่านั้นต้องออกค่าใช้จ่ายเอง เช่นเดียวกับกองทุนประกันสังคม และสิทธิสวัสดิข้าราชการซึ่งถือเป็นระบบที่ยังไม่ดีพอ เพราะในประเทศที่พัฒนาแล้วจะไม่ใช่รัฐสวัสดิการ 100% อย่างการรักษาหรือการตรวจสุขภาพก็จะมีการร่วมจ่าย เช่น 70 ต่อ 30 หรือแล้วแต่กรณี เพราะหากให้ฟรีหมด คนก็มักไม่ค่อยเน้นส่งเสริมสุขภาพ จะละเลยตัวเอง แต่ในไทยนั้นการจะให้ร่วมจ่ายคงไม่สามารถทำได้ในเร็วๆ นี้ แต่หากทำได้ในเรื่องการตรวจสุขภาพก็อาจทำให้คนหันมาตรวจกันมากขึ้น
เมื่อถามว่าหลายคนตรวจสุขภาพแต่ไม่พบรอยโรค นพ.วีรวุฒิกล่าวว่า อาจเพราะเป็นการตรวจสุขภาพทั่วไป ไม่ได้ตรวจคัดกรองมะเร็งแบบจำเพาะ ดังนั้น ทุกคนควรไปตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างน้อยปีละครั้งก็ยังดี สามารถเข้าตรวจได้ในโรงพยาบาลแทบทุกแห่ง ไม่ใช่แค่สถาบันมะเร็งฯอย่างเดียว โดยโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลระดับจังหวัดมีศักยภาพในการตรวจแทบทุกแห่ง
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่