“อัมมาร” ค้านร่วมจ่าย หนุนเก็บภาษีเพิ่ม ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร การดูแลคนแก่ หาทางรอด 3 กองทุนสุขภาพ ชี้ข้าราชการควรร่วมจ่าย เหตุผลงานน้อย สิทธิรักษาพยาบาลมาก สิ้นเปลือง
ศ.อัมมาร สยามวาลา ประธานกรรมการประสานการทำงาน 3 กองทุนสุขภาพ กล่าวถึงกรณี สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.)สรุปผลการศึกษาระบบสุขภาพ โดยให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ว่า เรื่องนี้คณะกรรมการยังไมได้มีการหารือ แต่ส่วนตัวไม่เห็นด้วยให้ประชาชนร่วมจ่าย สิ่งที่ทำได้คือการที่รัฐต้องหาเงินเข้ามาเติมระบบ เพราะปัจจัยหลักที่ทำให้เงินในระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุนไม่พอมีอยู่ 2 สาเหตุ คือ 1. ประเทศไทยมีผู้สูงอายุเยอะขึ้นทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นร้อยละ 2 - 4 โดยเฉพาะข้าราชการ ส่วนประกันสังคมน้อยเพราะอายุเกิน 60 ปี ก็ต้องออกมาและอยู่ในสิทธิบัตรทองแทน 2. ค่าจ้างของบุคลากรที่มากถึงร้อยละ 5 - 6 โดยเฉพาะค่าตอบแทนเหมาจ่าย ซึ่งจะเห็นว่าตอนนี้อัตราเกือบเท่ากับเงินเดือนข้าราชการ ดังนั้นหลักการคือต้องมาพิจารณาปรับลดค่าใช้จ่ายพวกนี้แทนการผลักภาระไปให้ประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม
“ส่วนข้อเสนอเรื่องการเก็บภาษีเพิ่มค่อนข้างเห็นด้วย เพราะวันนี้ประเทศไทยเก็บภาษีกันน้อยมาก ถ้าจะเพิ่มก็ควรจะเพิ่มอีกประมาณร้อยละ 3 - 4 ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะว่าจะได้เงินเข้าระบบสุขภาพมาก แต่จะช่วยเพิ่มรายรับเพื่อพัฒนาประเทศโดยรวมด้วย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะกรรมการ 3 กองทุนกำลังดำเนินการกันอยู่นั้นไม่ใช่การเสนอว่าต้องให้เงินเดือนเท่าไร ต้องเก็บเท่าไร แต่จะเน้นการเจรจาชุมชน 3 กองทุน โดยให้มีผู้แทน 3 กองทุน กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ เป็นต้น เข้ามาหารือ เจรจาเรื่องโครงสร้างงบประมาณของปีต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร” ศ.อัมมาร กล่าว
ศ.อัมมาร กล่าวว่า ข้าราชการควรมีส่วในการร่วมจ่าย เพราะจากการที่ทีดีอาร์ไอได้ศึกษาพบว่าระยะหลังเงินเดือนครู หมอ และข้าราชการส่วนอื่นๆ นั้นค่อนข้างสูงมาก และสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีผลงาน โดยเฉพาะครูผลงานการศึกษาของไทยต่ำกว่ามาตรฐานทุกปี แถมยังไปก่อหนี้สินกันมากมาย ขอลดหนี้กันมากมาย ในขณะที่สิทธิในการรักษาพยาบาลค่อนข้างมีเยอะกว่าสิทธิอื่นๆ เข้าได้ทุก รพ. ทั้งรัฐและเอกชน ระบบของข้าราชการเป็นระบบที่เอื้อให้เกิดการใช้จ่ายอย่างสิ้นเปลือง แต่บัตรทองค่อนข้างได้รับสิทธิอย่างจำกัด
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่