xs
xsm
sm
md
lg

คุมราคาเอกชนยาก แนะอัดงบพัฒนา รพ.รัฐ บัตรทองร่วมจ่าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“หมอเจตน์” ชี้คุมราคา รพ.เอกชน ยาก แนะพัฒนา รพ.รัฐแทน อัดงบให้เพียงพอ เสนอรัฐบาลให้สิทธิบัตรทองร่วมจ่ายแบบคนจนไม่เดือดร้อน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข (กมธ.สธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงปัญหาค่ารักษา รพ.เอกชน แพง ว่า นายกรัฐมนตรีเป็นห่วงในเรื่องนี้ โดยได้พูดในการประชุมสภา ว่า การเก็บค่ารักษาแพงขึ้นส่งผลให้ไทยเสียเปรียบในเรื่องการดึงคนต่างชาติเข้ามารักษาพยาบาล ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้ประเทศที่แต่ละปีมีต่างชาติเข้ามารักษามากถึง 1 ล้านคน ส่วนคนไทยที่มารักษาใน รพ.เอกชนถือเป็นทางเลือกเพื่อหนีจาก รพ.รัฐ ที่รอคิวนาน มีความแออัด อย่างไรก็ตาม แม้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกมีการกำหนดว่ากรณีเป็นเศรษฐกิจการตลาดให้รัฐดูแลค่ารักษา ค่ายาให้เป็นธรรมต่อผู้ไปใช้บริการ แต่การเข้าไปควบคุมมากจะกลายเป็นผลลบ โดย รพ.เอกชน อาจจะหนีไปตั้งสำนักงานในประเทศอื่น

“หากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาค่ารักษาพยาบาลใน รพ.เอกชน ของ กมธ.สธ.สนช. แล้วเสร็จ จะนำเข้า กมธ.สธ. พิจารณาและรายงานต่อ สนช. ให้เห็นชอบ จากนั้นจะส่งผลการศึกษาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการคุมค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชนสามารถดำเนินการได้ตามที่กฎหมายมีอยู่ คือ การให้แสดงอัตราค่ารักษาพยาบาลที่เห็นได้เด่นชัด และอยู่ที่คณะทำงานแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาล รพ.เอกชน ที่ รมว.สาธารณสุขจะพิจารณา” นพ.เจตน์กล่าว

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่า รัฐต้องคุ้มครองปกป้องผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองกว่า 48 ล้านคน ประกันสังคม 10 ล้านคน และสวัสดิการข้าราชการราว 5 ล้านคน ให้ได้รับคุณภาพการให้บริการในภาพรวมดีขึ้น โดยจะต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ แต่เมื่องบรัฐมีจำกัดไม่สามารถเพิ่มให้ รพ.รัฐ ได้ ก็จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการให้ประชาชนในสิทธิบัตรทองร่วมจ่ายค่ารักษา เพื่อเป็นการเติมเงินเข้าระบบ แต่ต้องไม่ให้คนที่มีรายได้น้อยเดือดร้อนและไม่ใช่การร่วมจ่าย ณ จุดให้บริการ เพราะหากงบประมาณโตไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงจะกระทบคุณภาพการให้บริการ เช่น กรณีมียาตัวใหม่ๆ ผู้ป่วย รพ.รัฐก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ เป็นต้น

“ที่ผ่านมา รพ. แต่ละแห่งจะแก้ปัญหางบฯไม่เพียงพอด้วยการนำงบในส่วนของสวัสดิการข้าราชการมาชดเชยเกลี่ยกับงบบัตรทองที่ไม่เพียงพอ ทำให้ รพ.พออยู่รอด แต่เมื่อปี 2550 รัฐบาลมีนโยบายไม่เพิ่มงบค่ารักษาพยาบาลข้าราชการมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว ปัจจุบัน รพ.รัฐ ไม่สามารถใช้เงินส่วนนี้ชดเชยได้แล้ว ทำให้ รพ.รัฐ มีเงินน้อยลง จึงกลัวอย่างมากว่าจะกระทบคุณภาพการให้บริการ ซึ่ง กมธ.สธ.สนช. จะทำการศึกษาคุณภาพการให้บริการใน รพ. โดยเบื้องต้นจะศึกษาในส่วนของ รพ.รัฐ ก่อน” นพ.เจตน์ กล่าว

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น