xs
xsm
sm
md
lg

หมอรามาฯ ชี้ร่วมจ่าย ไม่ช่วยเพิ่มเงินระบบบัตรทอง แนะของบรัฐดีกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาพจาก med.mahidol.ac.th
หมอรามาฯ ชี้ให้ ปชช. ร่วมจ่ายไม่แก้ปัญหาช่วยบัตรทองมีเงินในระบบเพิ่ม แนะ สปสช. ของบจากรัฐเพิ่มเติมจะดีกว่า แต่ระบุการร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยสกัดไม่ให้คนเจ็บป่วยเล็กน้อยแห่มารักษาใน รพ. พร่ำเพรื่อ

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีข้อเสนอการร่วมจ่ายเพื่อเพิ่มเงินให้แก่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งไม่เพียงพอ ว่า ในฐานะเป็นแพทย์ในแวดวงสาธารณสุข เห็นว่า การร่วมจ่ายต้องคิดให้รอบด้าน เพราะหากต้องร่วมจ่ายถึงหลัก 100 บาท ก็จะเป็นการสร้างความยากลำบากให้กับประชาชน เนื่องจากคนแต่ละกลุ่มมีฐานะแตกต่างกัน การจะแบ่งแยกระหว่างคนจน คนรวย โดยให้เก็บเงินเฉพาะคนรวยนั้น มองว่าไม่ถูกต้อง เพราะจะแบ่งแยกชัดเจน และคนจนจำนวนหนึ่งจะรู้สึกว่าเป็นกลุ่มอนาถา ที่สำคัญ การเก็บเงินเฉพาะคนรวย ก็ไม่ได้การันตีว่าพวกเขาจะมีฐานะทางการเงินที่ดีเช่นนี้ตลอดด้วย เพราะในอนาคตหากเจ็บป่วยเป็นโรคมะเร็ง หรือโรคเรื้อรังรักษายาก ก็มีสิทธิถึงขั้นล้มละลายได้ ก็จะเป็นคนจนทันที

จุดสำคัญอยู่ที่ต้องยึดหลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข เพราะระบบหลักประกันฯ มีหลักการชัดเจนว่า เป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเจ็บป่วยทั้งหมด ดังนั้น ประเด็นร่วมจ่ายจึงไม่ใช่ทางออก และหากพิจารณาดีๆ การร่วมจ่ายไม่ได้ช่วยให้เงินเข้ามาสู่ระบบมากนัก แต่หากไม่มีการเก็บเงินเลย ก็จะทำให้คนไม่อยากดูแลตัวเอง ดังนั้น การร่วมจ่าย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการช่วยให้คนไม่รู้สึกว่า การเข้าหา รพ.ง่ายจนเกินไป มิเช่นนั้น หากป่วยเล็กๆ น้อยๆ ก็ต้องเข้ารพ.กันหมด กลายเป็นแห่มารักษา ทั้งที่หากปวดศีรษะ ก็นอนพักรักษาตัวได้” นพ.นวนรรน กล่าว

นพ.นวนรรน กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการ ในการจ่ายเงินเหมาจ่ายรายหัวให้สถานพยาบาลของรัฐดูแลประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพฯ ควรต้องหาเม็ดเงินเข้าระบบมากขึ้น ด้วยการของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล โดยต้องรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ รวมทั้งหาผลการศึกษามาช่วยอีกทางหนึ่ง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น