xs
xsm
sm
md
lg

กระบวนการตรวจสอบ สปสช.และหลักประกันสุขภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
12 ปีที่ผ่านมา หากเอ่ยชื่อ “สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” หรือ “สปสช.” คนทั่วไปจะหยุดคิดชั่วครู่ว่าคือหน่วยงานที่ทำหน้าที่อะไร ไม่เหมือนสโลแกน “30 บาทรักษาทุกโรค” ที่คนรู้จักทั่วประเทศ แต่นาทีนี้ คงไม่มีใครไม่รู้จัก สปสช. อีกแล้ว ต้องขอขอบคุณความเห็นต่างทั้งมวลที่เกิดขึ้นในรอบปีที่ผ่านมาที่ช่วยประชาสัมพันธ์ชื่อ สปสช. ให้เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วและกว้างขวางผ่านสื่อทุกประเภทและแทบทุกวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2545 ภายใต้พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากการผลักดันของเครือข่ายภาคประชาชน นักวิชาการ ในสมัยที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี คุณหญิงสุดารัตน์เป็นรัฐมนตรีว่าการ และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้งบประมาณเริ่มต้นแบบเหมาจ่ายรายหัวที่ 1,202 บาทต่อประชากร
ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย และเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในขณะนั้น การจะขับเคลื่อนระบบให้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยมีประชาชนกว่า 48 ล้านคนเป็นเป้าหมาย ต้องใช้การบริหารจัดการแบบใหม่ที่ไม่ยึดติดกับระเบียบราชการที่เต็มไปด้วยขั้นตอนมากมาย จึงได้จัดตั้งหน่วยงานในลักษณะขององค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ทำงานภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บอร์ด สปสช. ที่สามารถออกกฎ ระเบียบ ประกาศได้เองภายใต้กฎหมายแม่

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี เขียนคำจำกัดความของ องค์การมหาชน ไว้ว่า “เป็นหน่วยงานของรัฐบาลไทยประเภทที่สาม นอกเหนือจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เริ่มตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและมีการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรและบุคลากรให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ตลอดจนเพื่อบูรณาการให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วมกันทำงานอย่างมีเอกภาพ และประสานงานกันเพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงาน ซึ่งต้องอาศัยความเร่งด่วน”

เมื่อ สปสช. ไม่ใช่ส่วนราชการ เจ้าหน้าที่ สปสช. จึงไม่ใช่ข้าราชการตามมาตรา 70 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ สปสช. ในยุคเริ่มต้น ส่วนใหญ่มาจากข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข ต้องลาออกจากราชการโดยรับบำเหน็จ หรือบำนาญ ตามแต่กรณี เพื่อมาเป็นเจ้าหน้าที่ สปสช. ความมั่นคงและสวัสดิการที่ได้รับเมื่ออยู่ในระบบราชการก็ลดลงและมีความไม่แน่นอน สิ่งที่ได้รับมากขึ้นคืออัตราเงินเดือนที่สูงขึ้นจากเดิมเพื่อจูงใจ ระบบการทำงานใหม่ที่ลดขั้นตอน ไม่มีสายการบังคับบัญชาที่ซับซ้อน และเป้าหมายใหม่ที่มีความท้าทายเป็นเดิมพัน

ผู้บริหารสูงสุดของ สปสช. ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ แม้จะดูราวกับว่าจะมีอำนาจมากมาย แต่ในข้อเท็จจริง เลขาธิการ เป็นเพียงพนักงานสัญญาจ้างที่บอร์ดคัดเลือกและแต่งตั้งโดยมีวาระในการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปีและไม่เกิน 2 วาระติดต่อกัน เงินเดือนค่าจ้างที่ได้รับก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์การกำหนดเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการองค์การมหาชน ตามที่ ก.พ.ร. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่ง ก.พ.ร. ได้กำหนดให้ สปสช.เป็นองค์การมหาชนกลุ่มที่ 3 บริการสาธารณะ อัตราเงินเดือนของเลขาธิการอยู่ระหว่าง 100,000 - 200,000 บาท แต่บอร์ดสามารถถอดถอนได้หากไม่ผ่านการประเมินผลงาน ซึ่งปัจจุบันมีการประเมินผลงานปีละครั้ง โดยหน่วยงานภายนอก

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบโดยตรง ได้เข้าตรวจสอบการบริหารจัดการของ สปสช.เพิ่มเติมจาก สตง.ที่เข้าตรวจเป็นประจำทุกปี เพื่อให้สิ้นความเคลือบแคลงสงสัย และเป็นบรรทัดฐานของหน่วยงานภาครัฐที่นอกจากจะต้องมีประสิทธิภาพแล้ว ยังต้องมีความโปร่งใสควบคู่กันไปด้วย

อีกไม่นานคงรู้กัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น