รายงานการเมือง
“ลดเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม” ตามหลักการของ พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับใหม่ ปี 2558 ซึ่งอีกไม่นานจะมีผลบังคับใช้ ดูจะเป็นความหวังของ กลุ่มคนทำงานอิสระ หรือ แรงงานนอกระบบ ซึ่ง “อรุณี ศรีโต” เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน บอกว่า คนทำงานที่พึ่งพาตัวเองมาตลอดไม่มีนายจ้าง แม้จะภูมิใจที่ต่อสู้ดิ้นรนด้วยตัวเอง แต่ก็ขาดระบบหลักประกันยามเจ็บป่วย หรือแม้แต่ในช่วงวัยชรา ที่ประกอบอาชีพไม่ได้แล้ว
ตามมาตรา 40 ตามกฎหมายประกันสังคม จึงถือเป็นความหวังสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หาเช้ากินค่ำ แต่เพื่อให้กฎหมายนำไปสู่การปฏิบัติตามหลักการของความเท่าเทียม เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมตัวกัน เพื่อเรียกร้องไปยังสำนักงานประกันสังคม เพื่อขยายสิทธิประโยชน์ มาตรา 40 ให้เทียบเท่า มาตรา 33 คือ การคุ้มครองสิทธิประโยชน์ 7 ประการ ทั้ง 1. เจ็บป่วย 2. ทุพพลภาพ 3. ตาย 4. คลอดบุตร 5. ชราภาพ 6. สงเคราะห์บุตร หรือแม้แต่การประกันรายได้จากการทำไม่มีงานทำ
“อยากให้สิทธิประโยชน์เท่าเทียม เช่น กรณีเงินชดเชยกรณีขาดรายได้ เนื่องจากเจ็บป่วยและนอนพักรักษาตัว หลักเกณฑ์ปัจจุบันต้องเป็นผู้ป่วยใน หรือนอนโรงพยาบาลตั้งแต่ 1 วันขึ้นไป จึงจะได้รับเงินชดเชยวันละ 200 บาท และใน 1 ปี ได้ไม่เกิน 30 วัน จึงอยากเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นให้มีใบรับรองแพทย์ แม้ไม่ได้นอน รพ. ก็สามารถเบิกค่าชดเชยได้”
แม้ว่า พ.ร.บ. ประกันสังคม 2558 ฉบับใหม่ จะมีเจตนาคุ้มครองคนทำงานอย่างเท่าเทียมกัน แต่กฎหมายลูกที่กำลังร่างเพื่อออกบังคับใช้ อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ และไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำได้จริง โดยเฉพาะคนทำงานอิสระ นอกระบบ ตาม มาตรา 40 เพราะสิทธิประโยชน์น้อยกว่า มาตรา 33 ซึ่งเป็นผู้ประกันตนที่มีนายจ้าง
“การออกกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้ ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ของสิทธิประโยชน์ตามมาตราต่างๆ เช่น มาตรา 40 เพราะแม้แต่ค่าทำศพ ผู้ประกันตนมาตราอื่นๆ ได้ 4 หมื่นบาท แต่มาตรานี้ได้เพียง 2 หมื่นบาทเท่านั้น” อรุณี บอก
ความเป็นไปได้ของการปรับสิทธิประโยชน์ของกลุ่มคนทำงานนอกระบบตาม มาตรา 40 นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม บอกว่า ได้รับข้อเสนอของแรงงานนอกระบบในเรื่องการปรับสิทธิประโยชน์ ซึ่งในวันที่ 5 มิถุนายน นี้ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม จะเข้ามาร่วมหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สำนักงานประกันสังคม อยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางปฏิรูปประกันสังคม มาตรา 40 โดยวางแนวทางเบื้องต้นไว้ 4 เรื่อง คือ การขยายการคุ้มครองไปสู่แรงงานนอกระบบอีกกว่า 20 ล้านคน การพัฒนาสิทธิประโยชน์ เช่น เงินชดเชยขาดรายได้ให้มีจำนวนวันและเงินชดเชยสูงขึ้น เงินค่าทำศพ คลอดบุตรมากขึ้น ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มเงินสมทบ
สำหรับประกันสังคม มาตรา 40 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบันมีแรงงานนอกระบบเป็นสมาชิกกว่า 2.5 ล้านคน โดยมีชุดสิทธิประโยชน์ดังนี้ คือ 1. โดยต้องจ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ใน 100 บาท จะแบ่งเป็นส่วนที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง 70 บาท ที่เหลืออีก 30 บาท รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้ โดยจะได้รับการคุ้มครองขั้นพื้นฐาน 3 กรณี คือ เงินทดแทนรายได้กรณีเจ็บป่วย เงินทดแทนรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินค่าทำศพ
ชุดสิทธิประโยชน์ 2 โดยต้องจ่ายเงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน โดยใน 150 บาทนั้น ทางผู้ประกันตนต้องจ่ายเอง 100 บาท ส่วนอีก 50 บาท ทางรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายให้ และสิทธิประโยชน์ทางเลือกที่ 3 (เงินบำนาญชราภาพ) โดยขยายให้ผู้สมัครอายุ 60 ปี สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนได้ โดยหากจ่ายสมทบเดือนละ 100 บาท รัฐร่วมจ่ายอุดหนุน 100 บาท จะมีเงินออมเดือนละ 200 บาท แต่ สิทธิประโยชน์ชุดนี้ อยู่ระหว่างการปรับรวมกับกองทุนออมแห่งชาติ (กอช.)
แม้สิทธิประโยชน์ 3 ทางเลือกเมื่อเทียบกับผู้ประกันตนตาม มาตรา 33 ซึ่งมีนายจ้าง ยังถือว่าสิทธิน้อยมาก ดังนั้น การปรับสิทธิประโยชน์ตาม มาตรา 40 เพื่อให้กับแรงงานนอกระบบที่มีจำนวนมากกว่า 24 ล้านคน ได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม จึงน่าจะเป็นทางออกที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้